โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย EP.04 เลี้ยงลูกพิเศษผ่านสถานการณ์โควิด-19

16 สิงหาคม 2021 45 ครั้ง

โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย EP.04 เลี้ยงลูกพิเศษผ่านสถานการณ์โควิด-19

เมื่อ 2 คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิดไปพร้อม ๆ กับคุณลูกที่มี “ความพิเศษ” งานก็ต้อง work from home กิจกรรมของลูกก็ต้องใส่ใจ ตารางชีวิตเปลี่ยนไปขนาดนี้ จะรับมือดูแลไปพร้อม ๆ กันได้อย่างไร ติตดามใน โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย EP.04 เลี้ยงลูกพิเศษผ่านสถานการณ์โควิด-19

 

คุณใหม่ - วันนี้มีคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว 2 ท่านที่จะมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน “แม่นกกับแม่เก่ง” จะคุยกันในหัวข้อ “เลี้ยงลูกพิเศษผ่านสถานการณ์โควิด-19 ไปด้วยกัน”

 

แม่เก่ง - ตอนนี้ลูกอายุ 9 ขวบ เป็นเด็กพิเศษ แม่ทำงานประจำเป็นพนักงานบริษัท

 

แม่นก - เป็นคุณแม่น้องนะโม น้องอายุ 13 ปี เป็นเด็กพิเศษออทิสติก คุณแม่เป็นฟรีแลนซ์ ด้านบัญชี

 

คุณใหม่ - ถามแม่เก่งก่อน แม่เก่งมีวิธีอย่างไรในการที่เราจะต้องเผชิญความเป็นเลี้ยงเดี่ยว แล้วก็มีลูกพิเศษ แล้วก็ต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ต้องเจอในโควิด-19 ด้วย

 

แม่เก่ง - ตอนนี้น้องเรียนออนไลน์อยู่ การรับมือกับสถานการณ์อันดับแรก คือ จากเดิมแม่ไปทำงานก็ต้องอยู่บ้าน อยู่กับเขานานขึ้น เขาก็จะสงสัย ก็มีคำถามว่า “ทำไมคุณแม่ไม่ทำงาน” “ทำไมคุณแม่อยู่บ้านได้” ก็ต้องเตรียมคำตอบที่จะต้องอธิบายพูดให้เขาเข้าใจ

 

แต่บางอย่างเขาอาจไม่ค่อยเข้าใจว่า สถานการณ์อย่างนี้เลวร้ายยังไง มีผลยังไง เราก็ต้องเตรียมคำตอบให้ลูก เพราะลูกเป็นเด็กพิเศษ คำตอบต้องเป็นคำที่ง่าย ๆ ฟังแล้วเข้าใจง่าย

 

เราอยู่บ้าน เราก็ต้องหากิจกรรมทำกัน พวกแท็บเล็ต มือถือ อยากให้เขาดูน้อยลง ก็ต้องมีกิจกรรม อาจทำงานบ้าน วาดรูปหรืออะไรที่เขาสนใจ ที่เขาทำอยู่ ก็มาร่วมทำกับเขา ทำให้เขาไม่เหงา

 

แม่นก - สำหรับลูกของแม่นก ในหนึ่งสัปดาห์ เขาจะมีกิจกรรมวันนี้ไปไหน อีกวันไปไหน พอทุกอย่างมันล็อก ช่วงแรก ๆก็ยังพอได้ไปบ้าง นาน ๆ ที ก็ยังพอบอกได้ว่า วันนี้ปิด เดี๋ยวอาทิตย์หน้าค่อยไป การพูดคุย หรือการเตรียมความพร้อมเขาในเรื่องของวันพรุ่งนี้ การบอกล่วงหน้า ค่อนข้างเป็นสิ่งสำคัญ

 

เขาไม่ค่อยยืดหยุ่น อะไรที่เขาเคยได้ เดี๋ยววันนี้มันต้องได้ เราต้องชิงบอกล่วงหน้าก่อนว่า พรุ่งนี้ไม่ได้แล้วนะ ช่วงแรก ๆ ก็จะมีเรื่องของอารมณ์พอสมควรกว่าเขาจะเข้าใจว่า บางครั้งอะไรที่เขาเคยทำปกติ มันทำไม่ได้ จนกระทั่งมันมาล็อกแบบไม่มีเลย ณ ตอนนี้ โรงเรียนก็ไม่ได้เปิด แต่คุณครูก็ให้การบ้านมาทำ ให้คุณแม่สอน ให้ส่งการบ้านทางไลน์ เราคอนข้างเปลี่ยนวิถีชีวิตเยอะ

 

ตัวลูกเอง การที่ต้องอย่บ้านทุกวันเป็นหลายเดือน เขาก็เบื่อ เซ็ง ฉะนั้นในแต่ละวัน เราก็จะต้องทำยังไงให้มีชีวิตชีวากันทุกวัน บางทีงานบ้านก็กลายเป็นภารกิจหนึ่งที่เราทำกัน แล้วเดี๋ยวลูกจะเอาอะไร รางวัลก็ต้องมีให้กัน แต่ส่วนใหญ่นะโมไม่ค่อยได้ให้เล่นแท็บเล็ต หรือมือถืออยู่แล้ว จะมีบ้างคือเอามาใช้กิจกรรมกันมากกว่า เช่น ดูยูทูป ดูเพลงที่เขาชอบ แล้วเราก็เต้นด้วยกัน อันนี้ถือเป็นรางวัลเขา

 

ตอนนี้สิ่งสำคัญที่แม่ต้องปรับ คือ ตั้งแต่เปิดเทอมครั้งที่แล้ว ก่อนที่จะปิดครั้งนี้ เขาจะต้องเตรียมแมส รู้จักใช้แอลกอฮอล์ แล้วก็ของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ แก้วน้ำ ขวดน้ำ ต้องระวัง อย่าไปหยิบจับของใคร เพราะเด็กกลุ่มนี้บางครั้งพอเห็นอะไรใกล้ตัวก็จะหยิบจับมาถือเลย ต้องปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างเยอะมาก

 

แม้แต่ตอนนี้ในบ้านเราเอง เราดื่มน้ำ เราก็ต้องแยกขวด แยกแก้ว ให้เป็นแบบอย่าง เราก็ค่อนข้างสบายใจเวลาที่จะต้องพาเขาไปข้างนอก เพราะบางครั้งแม่ก็ต้องเข้าออฟฟิส การปกป้องเรื่องพวกนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปลูกฝังเขาในช่วงนี้

 

คุณใหม่ – สุดท้ายอยากให้คุณแม่เก่งยกตัวอย่างกิจกรรมที่มาช่วยลูกของเรากับเราอีกสักหน่อย พร้อมวิธีจัดการอารมณ์ตัวเอง

 

แม่เก่ง – พอดีน้องเลี้ยงแมว ช่วงนี้ว่างเยอะก็จะให้ดูแลแมว อาบน้ำแมว ทำกิจกรรมกับแมว ฝึกแมว ให้เขารู้จักรักสัตว์มากขึ้น ก็ช่วยเยอะ ส่วนคุณแม่เองก็ต้องหากิจกรรมทำในส่วนที่เป็นของเรา คือ ปกติคุณแม่จะออกกำลังกายตามฟิตเนส ช่วงนี้ไปไม่ได้ก็ใช้วิธีออนไลน์ ไม่ก็ดูคลิป แล้วอาจจะให้ลูกมาร่วมด้วย ก็จะมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นมาอีก การออกกกำลังกายก็ช่วยจัดการอารมณ์ของเรา ให้เรารู้สึกดีขึ้น มีความสุขขึ้น แต่ถ้าไม่มีสัตว์เลี้ยงก็งานบ้านง่าย ๆ เลย ให้เขาทำ

 

พี่ใหม่ - แม่นกยังมีปัญหาอุปสรรคอะไรที่ยังจัดการอยู่ ยังก้าวไปไม่พ้น ต้องจัดการอยู่ทุกวัน แล้วแก้ไขยังไง

 

แม่นก - น่าจะเป็นเรื่องงานแม่ จริง ๆ กับลูกไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไร อาจจะเป็นเรื่องการดูแล บริหารจัดการตัวเองมากกว่า สำหรับแม่ในแต่ละวัน เราก็อยากจะให้ลูกเต็มที่ในช่วงวิกฤติแบบนี้ เรามีเวลาอยู่ด้วยกันเยอะ แต่บางทีก็ต้องทำใจว่า ให้ลูกเยอะไป งานโหลด เราก็กลับมาเครียด หงุดหงิด แม่ก็เลยต้องจัดลำดับให้ดี บริหารจัดการให้ดีขึ้น ภาวะอารมณ์ที่ไม่โอเค หงุดหงิดง่าย พอเราเป็นแล้วเรารู้ตัว เราก็พยายามจัดการตัวเองให้ได้ จัดการงานให้ได้ เพราะมันส่งผลกับลูกเหมือนกัน

 

พี่ใหม่ - สุดท้ายแล้ว วันนี้ได้เรียนรู้อะไร และอยากฝากอะไรไปถึงผู้ฟังที่จะต้องผ่านสถานการณ์เหมือน ๆ เราด้วย

 

แม่นก - ในเรื่องสถานการณ์โควิด เราก็ประสบปัญหาไม่ต่างกับบ้านอื่นเท่าไร แม่ว่าวันนี้ตัวอย่างของแม่หรือของแม่เก่งเองก็คงพอจะเป็นเรื่องราวที่แชร์และเป็นประโยชน์ได้บ้าง ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไง อาจจะหนักกว่าเดิมหรือผ่อนคลายลง ขอให้มีสติและเตรียมรับมือกับมันให้ได้ ด้วยความรู้สึกดี ๆ มันก็น่าจะผ่านพ้นไปได้

 

แม่เก่ง – คิดว่าสถานการณ์ตอนนี้ ทุกคนก็คงเจอเหมือนกันหมด เราต้องเรียนรู้กับการอยู่รอดในสถานการณ์แบบนี้ ต้องรับมือกับตรงนี้ให้ได้ คิดว่าเดี๋ยวมันก็คงผ่านช่วงเวลาแบบนี้ไป แล้วเราจะได้มีเกราะหรือมีประสบการณ์ในการผ่านช่วงเวลาตรงนั้นมาได้ ให้เราแข็งแรงขึ้น เพื่อที่จะรับมือกับสถานการณ์ในวันข้างหน้าที่มันต้องมีอีกแน่นอน

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  ฐาณิชชา ลิ้มพานิช

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER