โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย EP.05 ยิ่งใกล้เหมือนยิ่งห่าง

30 สิงหาคม 2021 63 ครั้ง

โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย EP.05 ยิ่งใกล้เหมือนยิ่งห่าง

สถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้คนในครอบครัวได้อยู่ใกล้กันมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็ work from home เด็ก ๆ ก็ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน แต่ทำไมทั้ง ๆ ที่มีเวลาอยู่ด้วยกันแทบ 24 ชั่วโมง กลับรู้สึกห่างเหินกับลูกมากกว่าเดิม มาติดตามปัญหาของ “พ่อเอ” คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวของลูกชายทั้ง 2 คน พร้อมคำแนะนำดี ๆ จาก “แม่ตู่” คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้เคยผ่านประสบการณ์ในเรื่องนี้มาแล้วเช่นกัน ติดตามได้ใน โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย EP.05 ยิ่งใกล้เหมือนยิ่งห่าง

 

คุณใหม่ - วันนี้เรามาเริ่มกันเลยกับหัวข้อ ยิ่งใกล้ ยิ่งห่าง พ่อเบียร์ช่วยเล่าหน่อยว่ามีสถานการณ์อะไร แล้วพ่อเบียร์อยากได้คำตอบอะไรจากเรื่องนี้

 

 

พ่อเบียร์ - ผมอยู่กับลูกชายอีก 2 คน เมื่อก่อนที่อยู่กัน 3 คน จะสนิทกันมาก เพราะเหมือนเรามีกันอยู่แค่นี้ พอลูกโตขึ้น เริ่มเข้าโรงเรียน ผมเลยให้คุณแม่แล้วก็น้องชายมาอยู่ด้วย พอสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน อะไรก็เริ่มเปลี่ยน ในช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้เราได้มีเวลาอยู่กับที่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง มันมีสถานการณ์และภาวะที่ทำให้เครียด เราจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในบ้าน รวมไปถึงกับลูกไม่ค่อยดีเท่าไร เราอาจจะเครียดจากเรื่องงาน แล้วมาเจอลูกเสียงดัง เล่นของเล่นเก็บไม่เรียบร้อย ก็มีดุ มีเตือนกัน บอกกัน มันทำให้ยิ่งเราอยู่ด้วยกันเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกว่าไม่ได้สนุกเหมือนเมื่อก่อน ไม่ได้แฮปปี้แล้ว ทำไมถึงรู้สึกแบบนี้

 

 

ลูกเองก็ไม่ได้มีความสุขกับการคุยกับเราเหมือนเมื่อก่อน ไม่ได้มาเล่นกับเรา เขาก็จะไปสนใจอย่างอื่นแทน เราเลยรู้สึกว่า ทำไมทั้งที่เรามีเวลาอยู่ด้วยกัน แต่ว่าเรากลับรู้สึกยิ่งห่างลูกไปเรื่อย ๆ อันนี้คือปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ ผมก็อยากรู้ว่า ผมจะจัดการกับตัวเองอย่างไรดี หรือต้องสื่อสารกับลูกแบบไหน หรือจัดการกับสภาพแวดล้อมอย่างไร

 

 

แม่ตู่ – เราต้องดูในส่วนของลูกเราก่อนว่าลูกเราอยู่ในช่วงวัยแบบไหน ความสนใจของเขาเกี่ยวข้องกับอะไรบ้างในตอนนี้ แล้วก็มาดูเรื่องเรียนออนไลน์ การปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ซึ่งเรามีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น แต่เวลาส่วนตัวของแต่ละคนลดลง เลยอาจทำให้การมีปฏิสัมพันธ์ของเรากับลูกใกล้กันเกินไปหรือเปล่า

 

 

เราต้องจัดการระหว่างลูกกับเราก่อนว่า มีข้อตกลงว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่เราจะอยู่กับตัวเราเอง แม่จะอยู่กับตัวของแม่นะ แล้วเรามาเจอกันตอนไหน หรือจะแบ่งเวลายังไง แต่ถ้ามีอะไรด่วนเรียกแม่ได้นะ เรียกพ่อได้นะ คือเราอาจต้องคุยกับลูกว่า เวลาไหนที่เขาต้องการเรา แล้วเราต้องมาดูแลในส่วนของเราเรื่องการจัดการอารมณ์ของตนเอง ในส่วนที่เป็นความเครียดอย่างถูกต้อง

แม่ตู่เคยเจอสถานการณ์เดียวกันกับพ่อเบียร์นะ แต่เราต้องกลับมาดูที่ตัวเองก่อน ต้องจัดการดูแลความเครียดของเรา ก่อนที่จะไปดูแลลูก หรือคนในครอบครัว

 

 

แม่ตู่จะออกกำลังกายเพิ่มขึ้น เพราะเราเครียดเรื่องงาน เรื่องลูก เราก็แบ่งเวลาของเราไปออกกำลังกาย แล้วแบ่งเวลาบางส่วนไปทำกิจกรรมกับลูก เช่น ทำกับข้าว หรือไปเล่นกีฬากับเขา ในส่วนที่เป็นกีฬา งานศิลปะ หรืองานอดิเรกอื่น ๆ เราจะคุยกับลูกก่อน เพราะลูก 2 คนจะมีความต่างกัน ชอบไม่เหมือนกัน แต่เราก็จะมาร่วมด้วยอยู่ตรงกลาง เช่น สถานที่ที่เราจะไปร่วมกิจกรรม จะมีกิจกรรมที่ลูกสามารถเข้าร่วมได้ทั้ง 2 คนไหม

 

 

ในส่วนของคนรอบข้าง เราต้องคุยกับสมาชิกในครอบครัวซึ่งไม่ใช่ลูกเรา อาจเป็นคุณแม่หรือญาติ ๆ ว่า แนวทางในการปฏิบัติต้องไปในแนวทางเดียวกัน แล้วก็คุยกับลูก หาลือกัน แต่การตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย ขอให้เราเป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งนี้การตัดสินใจต้องดูว่าเหมาะกับลูกเราไหม ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร

 

 

พ่อเบียร์ – จริง ๆ ก็พอเห็นภาพแล้วก็เข้าใจ ด้วยความที่เราเองต้องหยิบหน้าที่ทุกอย่างมาทำพร้อมกันทีเดียว พอได้ฟังคุณแม่ตู่แชร์มาแบบนี้ ก็คิดว่าเราต้องจัดความสำคัญอย่างไรบ้างก่อน

คราวนี้เป็นเรื่องของเวลา กฎเกณฑ์ อยากรู้ว่าแม่ตู่จัดการเวลาให้กับลูก ให้กับตัวเองอย่างไรบ้าง เพราะเราต้องดูแลทุกอย่างเลย พ่อเบียร์มีปัญหาเรื่องนี้เพราะเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราให้กับลูกเยอะหรือน้อยมากแค่ไหน มันมีผลกับความสัมพันธ์อย่างไรบ้าง

 

 

แม่ตู่ – ก่อนอื่นเราต้องคุยกับเด็ก ๆ ว่า เขาต้องการเวลาจากเราในช่วงไหนบ้าง หรือเราเองจะมีเวลาช่วงไหนสำหรับเขา แล้วเวลานั้นตรงกันไหม หรือถ้ามีอะไรด่วน ต้องการคำปรึกษาอย่างเร่งด่วน เราต้องบอกลูกเลยว่า เราพร้อมทุกครั้งที่ลูกต้องการเรา

 

 

ลูกก็อยากมีเวลาส่วนตัว เด็ก 8 ขวบ เขาก็เริ่มเติบโต เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ก็จะมีเพื่อนมากขึ้น มีโทรศัพท์เป็นเพื่อน ซึ่งเวลาที่เราอยู่กับเขา เขาอาจไม่ได้ต้องการมากเหมือนเดิม เราควรคุยกับลูก แล้วเราต้องจัดสรรเวลาให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้

 

 

อย่างน้อยที่เราคุยกับลูก เราจะได้ทราบถึงความรู้สึก ความคิด และความต้องการของเขาว่า เขาต้องการแบบไหน แต่เวลาคุยกับลูกอยากให้เป็นคำถามปลายเปิด ไม่ใช่คำถามที่เราบอกเขา ให้เขาตอบว่า ใช่ หรือไม่ใช่แค่นั้น อยากให้เขามีคำตอบเชิงคิดขึ้นมา คือ ชวนพูด ชวนคุย ชวนคิด แล้วก็เป็นการสื่อสารแบบเชิงบวก สร้างวินัยเชิงบวก

 

 

หรือถ้าคุยเรื่องความสนใจของเขา ด้านกีฬา ด้านศิลปะ เขาชอบแบบไหน อย่างแม่ตู่ เป็นผู้หญิง แต่เราเลี้ยงลูกต่างเพศ เขาก็จะบอกว่า แม่ไปเตะบอลกัน คือเราต้องไปไง เราก็มองว่า เราได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกับเขา แล้วเราก็สามารถบอกข้อมูล บอกอะไรกับเขาได้ แล้วก็ได้เรียนรู้ลูกไปในช่วงที่เราได้เล่นกีฬากับเขา เขาก็รู้สึกดีนะว่าแม่ทำได้

 

 

คือความเป็นพ่อเป็นแม่ บางครั้งพ่อแม่บางท่านก็คิดและเข้าใจว่ามีอำนาจเหนือลูก ซึ่งไม่อยากให้คิดแบบนั้น อยากให้พยายามส่งความปรารถนาดีไปให้ลูกให้มากที่สุด แล้วความคิดที่เราอยู่เหนือลูก มันก็หายไปเอง

 

 

พอเรารู้สึก เรามีอำนาจเหนือลูก เราจะสั่งการอย่างเดียว ซึ่งลูกอาจไม่ค่อยชอบ เพราะการพูดจา มันมีทั้งน้ำเสียง สีหน้า กิริยาท่าทางหลายอย่าง ซึ่งเด็กสามารถรับรู้ได้ว่าไม่โอเคสำหรับเขา เราเลยต้องกลับมาดูตัวเองก่อน มาปรับแก้ไขในส่วนที่เราก็มีเหวี่ยงวีนบ้าง ก็ต้องกลับมาจัดการอารมณ์ ความเครียดอย่างถูกต้อง

 

 

พ่อเบียร์ - เบียร์ว่าเบียร์เป็นอย่างนั้นแน่ ๆ เพราะช่วงที่ work from home เราต้องจัดการทุกอย่างในบ้าน เลยทำให้เราค่อนข้างเคร่งในเรื่องกฎระเบียบและข้อตกลง เราจะเป็นคนกำหนดว่า ต้องตื่นนอนกันกี่โมง เช้ามาเราต้องประชุมนะ แล้วลูกต้องทำอะไร แล้วเราจะมาเจอกันตอนนี้ ลูกต้องส่งการบ้านตอนนี้ให้เสร็จ แบบฝึกหัดต้องส่งให้เราตรวจดูตอนนี้ กินข้าวพร้อมกันตอนนี้

ก็จะมีช่วงเวลาหนึ่ง ที่พอเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นเรื่อย ๆ แล้วลูกขอเล่นเกม ขอดูการ์ตูน เราก็จะบอกว่า งั้นให้ไปทำการบ้าน หรือทำแบบฝึกหัด หรือทำอะไรก็แล้วแต่มาแลก เสร็จปุ๊บ เขาก็จะเล่นเกมแบบที่เราไม่อยากให้เล่น เป็นเกมที่ในมุมหนึ่ง เราเองก็มองว่า ทำไมถึงเล่นเกมอะไรแบบนี้ ไม่เห็นน่าเล่น ไม่เห็นสร้างสรรค์เลย แล้วเราห้ามเขาไม่ได้ เพราะเขาก็จะมีเหตุผลว่า ในเมื่อตกลงกันแล้ว ในใจเราก็เคือง แต่เราแสดงออกไม่ได้ เพราะตกลงกับเขาแล้ว

 

 

ก็มีวันหนึ่ง เราเลยไปนั่งข้าง ๆ ลูก แล้วก็ถามว่า อันนี้เล่นยังไงเหรอ เล่นแล้วได้อะไร ตัวนี้หมายถึงอะไร อาวุธที่เขาใช้คืออะไร ทำไมถึงหามาได้ แล้วเราเห็นแววตาลูก ความรู้สึกลูกที่เล่าให้ฟัง มันเหมือนเขามีความสุขมาก แล้วเขาอยากให้เรารู้ เขาถามเราว่าลองเล่นดูไหม ชอบไหมตัวนี้ แล้วก็บอก หนูชอบด่านนี้มากเลยนะ หนูชอบตรงนี้มากเลย เราเลยรู้สึกทำไมอารมณ์ ความรู้สึกเขา เหมือนอยากให้เราเข้าไปด้วย เหมือนเขาพร้อมที่จะนำเสนอให้เรา เราก็เห็นอีกมุมหนึ่งของเขา จริง ๆ สิ่งที่เขาทำ มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ไร้สาระอย่างที่เราคิด หรือไม่ได้มีประโยชน์ขนาดนั้น แต่ว่า มันเป็นสิ่งที่เขารู้สึก สนุก อินกับมัน ณ ช่วงเวลานั้น ทำให้เขาผ่อนคลาย

 

 

ผมก็มองย้อนกลับมาที่ตัวเองว่า เราอาจคิดเยอะไปไหม หรือเข้มงวดเกินไปหรือเปล่า ข้อกำหนดกฎเกณฑ์ วางอะไรเยอะมากไปหรือเปล่า ตอนนั้นก็ทำให้กลับมาคิดเหมือนกัน ยิ่งเมื่อกี้ที่เล่าให้ฟังมา ก็เลยยิ่งนึกไปถึงเรื่องนี้

 

 

 

คุณใหม่ - เป็นประเด็นที่ดีมากเลย ถ้าพี่ใหม่สรุปประเด็นสั้น ๆ ที่เราได้คุยกันวันนี้ มันมาจากสถานการณ์ที่เราต้องอยู่กับลูก 24 ชม. แล้วพ่อเบียร์ตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรดีถึงจะทำให้สัมพันธภาพกลับมากระชับเหมือนเดิม แล้วก็จัดการตัวเอง จัดการลูก จัดการคนรอบข้างอย่างไร ประเด็นที่จับได้จากที่ทั้ง 2 ท่านคุยกัน คือ

 

 

เรื่องที่ 1 จัดการตัวเอง พี่ตู่ยกตัวอย่างเรื่องการรับมือกับความรู้สึกกับอารมณ์โกรธ ถ้าจะผ่อนคลายกับการรับมือ พี่ตู่ใช้กีฬา หรือกิจกรรมช่วย ซึ่งพ่อเบียร์อาจมีสิ่งที่เคยชอบอยู่ ก็ใช้วิธีนั้นรับมือและผ่อนคลายตัวเอง

 

 

เรื่องที่ 2 จัดการกับลูก พี่ตู่แตะไปถึงเรื่อง คำนึงถึงวัยของลูก กิจกรรมที่ลูกชอบ แล้วก็มาคุยเรื่องการตั้งกติกากับลูก ซึ่งเรื่องนี้ถ้าเราเรียนรู้เรื่องการใช้วินัยเชิงบวก มันจะมีวิธีการสร้างกติกากับลูกอยู่ แต่พ่อเบียร์ก็ให้เพิ่มมาอีกว่า จริง ๆ แล้วพ่อเบียร์ค้นพบว่า การที่พ่อเบียร์เข้าไปอยู่ในโลกของลูก ว่าลูกเล่นอะไร มันทำให้ความสัมพันธ์กระชับขึ้น เพราะว่าลูกรู้สึกว่าพ่อไม่ได้กีดกันการเล่นของเขา ตรงกันข้าม พ่อเข้ามาอยู่ในโลกของเขา เป็นเพื่อนเขา แล้วพ่อรู้จัก เข้าใจเขามากขึ้น อันนี้ก็เป็นวิธีการกระชับความสัมพันธ์โดยที่เราไม่รู้ตัว มากกว่าการไปคอยห้าม คอยดุ คอยด่า คอยสั่งแล้วก็ความคาดหวังบางอย่าง เพราะฉะนั้น การปรับตัวของพ่อเบียร์ จริง ๆ มันเป็นข้อค้นพบหนึ่งที่ดีมาก ๆ

 

 

เรื่องที่ 3 จัดการกับคนรอบข้างอย่างไร แม่ตู่บอกว่า เอาเขามาเป็นพวก แต่อย่างน้อยเราต้องมีธงของเรา เราจะต้องเป็นคนฟันธงว่าแบบนี้ไม่ได้ แต่พวกเขาจะเป็นตัวช่วยและเป็นโอกาสหนึ่งที่ดีมากที่ทำให้ลูกของเรารู้จักการสร้างความสัมพันธ์ มีปฏิสัมพันธ์ แล้วทำให้ลูกอาจมีโอกาสได้พูดคุยกับคนอื่นรอบข้าง และที่สำคัญ เขาอาจช่วยดูแลลูกเราก็ได้

 

 

แล้วเรายังเพิ่มไปถึงเรื่องการจัดการเวลา ว่าจัดการอย่างไร เราควรมีการสื่อสารกับลูก พูดคุยกับลูก อาจมีการให้เวลาด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน

 

ในเรื่องการสื่อสารก็ไม่ได้มีแค่คำพูด เราต้องหลีกเลี่ยงการสื่อสารที่เป็นคำถามปลายปิด เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้พูด และเรายังมีการโอบกอด สีหน้า ท่าทางต่าง ๆ ซึ่งสิ่งที่คุยกันวันนี้มันดีมากเลยที่เราจะปรับในการที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว 24 ชม. วางความคาดหวังลง เข้าใจลูกมากขึ้น หาเวลาผ่อนคลายกับตัวเอง

 

 

พ่อเบียร์ – จริง ๆ เราเชื่อว่าพ่อแม่หลายคนรู้ว่าปัญหาแบบนี้ต้องจัดการที่ตัวเรา มีปัญหาเรื่องอารมณ์ต้องจัดการตัวเอง มีปัญหากับคนที่บ้าน เราต้องคุย วันนี้สิ่งที่ผมได้ คือ การเข้าไปคุยกับคนรอบข้าง คนที่บ้าน เราจะคุยอย่างไร เราจะเริ่มต้นจากอะไร และสุดท้ายจะต้องจบจากอะไร ที่บอกว่าสุดท้ายมันจะต้องอยู่ที่เรา รวมไปถึงการสร้างกฎ สร้างกติกา ทุกคนก็รู้ว่าการสร้างกฎ กติกา ทำให้เกิดการสร้างวินัย แต่จะสร้างอย่างไรกับลูกให้เป็นวินัยเชิงบวก รู้สึกว่าได้อะไรค่อนข้างเยอะ

 

 

จริง ๆ เราก็เพิ่งค้นพบว่า การเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของลูก ลองเปลี่ยนตรงนั้น ความรู้สึกของเราตอนนั้นมันสำคัญมาก ๆ เราน่าจะเอาอะไรที่ได้จากตรงนั้น ความรู้สึกจากตรงนั้น กลับมาทบทวน กลับมาคิดว่า ถ้าเกิดเราเป็นเขา เราทำแบบนี้ เขาจะรู้สึกอย่างไร แล้วในโลกของเขา เขามีความรู้สึกอย่างไรบ้างกับสิ่งนี้ มันอาจทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น แล้วความสัมพันธ์ของเรากับเขาก็จะกระชับและใกล้ชิดมากขึ้น

 

 

คุณใหม่ – พี่ใหม่ฟังพ่อเบียร์แล้วก็ได้อีกอันหนึ่งนะ การสร้างกติกา ถ้าลูกได้มามีส่วนร่วม สร้างด้วยกันกับเรา มันจะช่วยได้เยอะเลย เพราะว่ามันจะมีการเคารพสิทธิของลูก ว่าลูกได้ทางเลือก และเขาก็จะเคารพในสิ่งที่เราสร้างกติกาด้วยกัน อันนี้ก็เป็นการเรียนรู้อันหนึ่งที่ดีมาก ขอบคุณพ่อเบียร์มากเลย

 

 

แม่ตู่ - ปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเต็มหรือครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ปัญหาใกล้เคียงกัน แล้วก็อาจจะเป็นปัญหาเดียวกัน ซึ่งเรามองว่า เราต้องจัดการที่ตัวเราเองก่อน เราถึงจะไปดูแลลูก ๆ ได้ เพราะเราต้องตระหนักรู้ในตัวเราเองก่อน แล้วเราก็จะต้องไปจัดการดูแลสมาชิกในครอบครัวให้ดีที่สุดได้

อยากฝากคุณพ่อคุณแม่ว่า เราดูแลลูก เราต้องสร้างทักษะให้ลูกให้ได้อย่างน้อย 4 อย่าง คือ การตระหนักรู้ในตนเอง ว่าตัวเองมีคุณค่าและผู้อื่นก็มีคุณค่าเหมือนกัน ต่อมาคือทักษะที่เป็นปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และสมาชิกในครอบครัว แล้วก็การแก้ไขปัญหาในเชิงบวก

 

 

พ่อเบียร์ – เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือไม่เลี้ยงเดี่ยวก็คงเจอปัญหาที่คล้ายกันเหมือนกัน สุดท้ายเราเองก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ลูกเราเองก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ทุกคนอาจมีอารมณ์ อาจต้องเจอปัญหา เจอทั้งความสุขและความทุกข์ การที่เราจะจัดการกับปัญหา หรือก้าวข้ามมันไปได้คือการที่เรามีสติ หมายถึงว่า กลับมาทบทวนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร แล้วเราจะจัดการกับมันอย่างไร ไม่ว่าจะเจออะไรก็ตาม การจัดการอารมณ์คือสิ่งที่สำคัญ เพราะอารมณ์จะทำให้หลาย ๆ อย่างผิดพลาดไปได้ เป็นกำลังใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกคนที่กำลังฟังอยู่ครับ

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  ฐาณิชชา ลิ้มพานิช

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

OTHER