ปลดล็อกกับหมอเวช EP.18 บนเส้นทางการค้นหาตัวตนของลูกวัยรุ่น

27 มิถุนายน 2020 74 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.18 บนเส้นทางการค้นหาตัวตนของลูกวัยรุ่น

ลูกวัยรุ่นกับการค้นหาตัวตนและอิสระจากพ่อแม่ เราจะเป็นเพื่อนร่วมทางที่ดีโดยไม่ยัดเยียดสูตรสำเร็จในการดำเนินชีวิตให้ลูกได้อย่างไร ปลดล็อกกับหมอเวชอีพีนี้มีข้อคิดและแนวทางดี ๆ มาฝากคุณพ่อคุณแม่ให้เรียนรู้และทำความเข้าใจกันค่ะ

การค้นหาเส้นทางชีวิตเป็นเรื่องของลูก พ่อแม่มีบทบาทในการพูดคุยและสามารถเป็นเพื่อน ร่วมทางในการช่วยลูกค้นหาตัวเอง การที่เราจะเป็นเพื่อนร่วมทางที่ดี เป็นพ่อแม่ที่เป็นที่พึ่งในยามที่ ลูกต้องการพูดคุยโดยไม่พยายามยัดเยียดสูตรสำเร็จของการดำเนินชีวิตให้กับเขา เราจะทำได้อย่างไร

 

วัยรุ่นมีหน้าที่อะไรบ้าง

 

หน้าที่ของคนวัยนี้มี 2 เรื่อง

 

1. ภารกิจประจำวัยในการค้นหาตัวเองให้เจอ หาตัวตน หาเอกลักษณ์ หาที่ยืนด้วยความ ภาคภูมิใจ ซึ่งแกนกลางอย่างหนึ่งเป็นเรื่องของการงานอาชีพ แต่ยังคงเป็นเรื่องของบุคลิกภาพ การมีสายสัมพันธ์เครือข่ายทางสังคม การมีความรู้จักตัวเองดีพอ ซึ่งตรงนี้เป็นกระบวนการ เรียนรู้ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่เด็ก จนถึงวัยประถม มัธยม และวัยที่ใกล้จะจบไปทำงาน

 

2. ภารกิจเติบโตเป็นอิสระจากการพึ่งพิงพ่อแม่ ซึ่งแปลว่าเขาต้องพร้อมที่จะออกไปเผชิญ โลกภายนอก พร้อมที่จะแยกจากพ่อแม่ไปสร้างครอบครัวใหม่

 

ทั้งสองบทบาทนี้ท้าทายทั้งลูกและพ่อแม่มาก เพราะลูกวัยนี้เป็นวัยที่พ่อแม่ต้องเปลี่ยนวิธี การพูดคุย ไม่สามารถสอนอะไรถูกผิดเหมือนเด็กเล็กได้ เพราะเขาจะมีปัจจัยนำเข้าทางการรับรู้ และเรียนรู้มาก และมีช่องว่างของการรับรู้และประสบการณ์มากจากรุ่นพ่อแม่

 

พ่อแม่มีหน้าที่ช่วยจัดกระบวนการเพื่อเอื้อต่อการที่ลูกจะค้นหาตัวเองเจอ แล้วสามารถ เติบโตเป็นอิสระจากพ่อแม่ได้ ฉะนั้นการเลี้ยงลูกในหลักข้อนี้ จึงไม่ใช่การมองหาข้อบกพร่อง ในตัวลูกแล้วพยายามแก้ไขให้ดี เพราะยิ่งพยายามแก้ไข ก็มักทำให้ลูกขาดความภูมิใจ รู้สึกไม่ดี พอสักที บั่นทอนการเติบโตของเขา แต่เราต้องตระหนักว่าบทบาทของเรา เป็นการช่วยให้เขาค้นหาตัวเองเจอว่าเขามีดี มีจุดแข็ง มีความถนัด มีความรักหรือต้องการอะไร แล้วถ้าเขาจะบิน เขาควรเลือกบินอย่างไร บินไปไหน

 

 

เครื่องมือสำคัญในการช่วยลูกค้นหาตัวเอง

 

1. ทัศนคติของพ่อแม่

 

ทัศนคติที่ถูกต้องจะเป็นฐานของปฏิสัมพันธ์ในการพูดคุย และในการปฏิบัติต่อกัน เช่น การเชื่อว่าลูกมีศักยภาพภายใน บางครั้งเขาอาจต้องผ่านความยากลำบาก ผ่านบททดสอบ เพื่อจะได้ เข้าถึงศักยภาพตัวเอง พ่อแม่ก็ต้องเชื่อว่าเขามีศักยภาพที่จะผ่านพ้น และค้นพบคำตอบที่ดี

 

ความเชื่ออีกอย่าง คือ ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่ใช่ปัญหา หัวใจสำคัญคือลูกเรียนรู้อะไร จากความผิดพลาดล้มเหลว เราต้องสอนให้ลูกรู้วิธีนำร่องการเดินทางชีวิตของเขา ทำให้เขารู้ว่าตัดสินใจนี้ดีหรือไม่ดี แล้วเขาจะปรับอย่างไรให้ไปสู่จุดหมายที่ดีขึ้น

 

ถ้าพ่อแม่มีความเชื่อเช่นนี้จะนำไปสู่ทัศนะที่เปิดกว้างโดยไม่รีบตัดสินถูกผิด ฐานของการพูดคุยกัน คือให้สิทธิ์ในการตัดสินใจกับลูกให้เหมาะสมตามวัย วิธีคุยกับลูกอย่างแรก คือให้ล้างใจ เคลียร์ใจ ตัวเองก่อนว่า ทัศนคติของเราเป็นฐานที่สำคัญ อย่ารีบตัดสินถูกผิด เราต้องเชื่อในศักยภาพและกระบวนการแลกเปลี่ยนกัน

 

2. กระบวนการคุย

 

วิธีการคุยหรือกระบวนการคุย เป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่จะช่วยให้ลูกมีความชัดเจน ในความคิดของตัวเอง ได้รับรู้ความคิดเห็นและข้อมูลของพ่อแม่แบบที่ไม่บังคับให้เขารับไปใช้ รับไปเชื่อ

 

สมมติลูกมีคำถาม เราจะไม่ตอบคำถามแบบให้เป็นคำตอบจากมุมของเรา แต่เราจะตั้งคำถาม เพื่อสอนวิธีคิดให้กับเขา เช่น ถ้าเขาถามว่าเรื่องนี้จะทำอย่างไร เราก็จะถามกลับว่า เขาเห็นทางเลือก อะไรบ้าง ถ้าทางเลือกของเขามีจำนวนหนึ่ง เราก็อาจเติมข้อมูลว่าเราเห็นอะไรเพิ่มด้วย จากนั้นก็ชวนกันดูว่าแต่ละทางเลือกดี-เสียอย่างไร เพื่อนำไปสู่ การตั้งคำถามต่อว่า เขาต้องการอะไร ชอบอันไหน ซึ่งจะทำให้เขาตระหนัก ในกระบวนการทางความคิดดีขึ้น

 

การใช้ทักษะการสื่อสาร พูดคุย ตั้งคำถาม รับฟัง ก็เพื่อให้เขาคิดเป็น การจะใช้เครื่องมือ ตัวนี้ได้ดี พ่อแม่ต้องมีระบบคิดที่เป็นขั้นตอน มีทักษะในการตั้งคำถาม อย่าใช้คำถามเพื่อต้อนลูกเข้าสู่มุมที่เราต้องการ เพราะเขาจะไม่ชอบและจะไม่อยากคุยกับเรา

 

ถ้าการคุยกันเป็นการสำรวจไปด้วยกัน ลูกได้ข้อมูล ได้ทัศนะ ได้คำถามเพื่อช่วยเขาเรียบเรียง ความคิดได้ดีขึ้น ประสบการณ์ตรงนี้จะช่วยให้เขารู้สึกดี เพราะเขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และเขารู้ว่า พ่อแม่จะเปิดใจรับแม้จะไม่เห็นด้วย

 

3. เนื้อหา

 

พ่อแม่ที่มีการรับรู้ที่กว้าง เช่น เป็นคนที่มีวงสังคมหลากหลาย รู้ทั้งงานแนวสายวิทย์ สายศิลป์ รู้ว่าแต่ละอาชีพทำอะไร รู้ถึงลักษณะองค์กรใหญ่-เล็กดีเสียอย่างไร ต่างประเทศ-ในประเทศดีหรือไม่ดีอย่างไร พ่อแม่ที่มีต้นทุนในเรื่องประสบการณ์ชีวิต โลกแห่งงาน แล้วก็เรื่อง ชีวิตที่ดี จะมีต้นทุนที่ดีมากในการคุยกับลูก

 

แต่พ่อแม่ไม่ใช่ส่วนใหญ่ที่จะมีประสบการณ์ที่กว้างขวาง ซึ่งไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่สำคัญ ที่สุด คือทัศนคติของพ่อแม่ที่เปิดรับลูก สำคัญรองลงมา คือ เปลี่ยนการคุยให้เป็นกระบวนการคุย เพื่อให้ลูกได้ค้นพบคำตอบ และถ้าพ่อแม่มีเนื้อหาก็อาจหยิบข้อมูลบางส่วนมาแบ่งปันกับลูกได้

 

การเลี้ยงลูกให้ดี ให้เขาค้นพบตัวเอง ความรักของพ่อแม่อย่างเดียวไม่พอ เราต้องการทัศนะที่ถูกต้อง ต้องการทักษะในการสื่อสารพูดคุย และยังต้องการประสบการณ์ชีวิตที่จะแบ่งปันกับเขา ในวันที่เขาอยากรู้คำตอบบางอย่าง และนี่ก็เป็นสิ่งที่คุณจะช่วยได้ในการไปอยู่บนเส้นทาง การค้นหาตัวเองสำหรับลูกวัยรุ่นของคุณ

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER