Save teen EP.10 แค่นี้ร้องไห้ จะมีปัญญาดูแลฉันได้ยังไง

05 พฤศจิกายน 2021 46 ครั้ง

Save teen EP.10 แค่นี้ร้องไห้ จะมีปัญญาดูแลฉันได้ยังไง

เมื่อการร้องไห้ของลูก ถูกพ่อแม่มองว่าเป็นเรื่องอ่อนแอ จนถึงขนาดว่า ร้องไห้แบบนี้จะมีปัญญาดูแลพ่อแม่ได้ยังไง ปัญหานี้จะมีทางออกตรงไหน ติดตามฟังคำแนะนำดี ๆ จาก คุณปวีณ์สุดา สานิสี นักจิตวิทยา จากกรมสุขภาพจิต ได้ในรายการ Saveteen EP.10 แค่นี้ร้องไห้ จะมีปัญญาดูแลฉันได้ยังไง

 

Q : ทุกครั้งที่หนูทะเลาะกับคุณแม่ หนูจะร้องไห้ พอคุณพ่อคุณแม่เห็นหนูร้องไห้ก็บอกว่า ทำไมอ่อนแออย่างนี้ พูดแค่นี้ทำไมต้องร้องด้วย เอะอะร้องไห้แบบนี้จะมีปัญญาดูแลพ่อแม่ได้ยังไง คนจะดูแลพ่อแม่ได้มันต้องเข้มแข็งสิ หนูก็บอกว่า ทำไมล่ะ หนูร้องไห้แค่นี้เอง คุณพ่อคุณแม่ก็บอกว่า ถ้าอ่อนแอแบบนี้ ออกไปอยู่คนเดียวเลย ถ้าสอนไม่ได้ก็ไม่ต้องอยู่ หนูไม่เข้าใจว่า หนูอ่อนแอ หนูผิดด้วยเหรอ แล้วการที่หนูบอกว่า หนูรู้สึกยังไง คุณพ่อคุณแม่กลับบอกว่าหนูเถียง หนูจะทำยังไงดีคะ

 

 

A : เรื่องร้องไห้ การตีความของแต่ละคนไม่เหมือนกัน พ่อแม่ก็ตีความว่า ลูกอ่อนแอหรือเปล่า ไม่เข้มแข็งหรือเปล่า

 

แต่ในทางธรรมชาติ การร้องไห้มาจากหลายสาเหตุมาก ถ้าทางกายก็เหมือนเวลามีอะไรมากระทบ เช่น ฝุ่น น้ำตาก็ไหลออกมา หรือทางสุขภาพจิต ถ้ามีตัวกระตุ้นเข้ามา เช่น ความเศร้า เสียใจ ซึ่งเป็นด้านลบก็จะร้องไห้ได้ แต่ในทางกลับกัน ด้านบวก เช่น ดีใจมาก ๆ ตื่นเต้นมาก ๆ ก็ร้องไห้ได้เหมือนกัน การร้องไห้บางทีเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ เมื่อมีการกระตุ้นอารมณ์ น้ำตาก็ออกมาเองตามธรรมชาติ

 

 

วิธีสื่อสารกับผู้ปกครอง

 

ในช่วงท้ายคำถามบอกว่า พอเราตอบกลับกลายเป็นเราเถียง อาจเป็นไปได้ว่า ตอนเราร้องไห้ก็จะมีทั้งอารมณ์โกรธบ้าง เสียใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เลยกลายเป็นในมุมพ่อแม่เห็นแค่ชั้นอารมณ์ ยังไม่ได้มองลึกไปถึงเหตุผล การสื่อสารระหว่างกันตรงนี้ก็เหมือนอารมณ์กับอารมณ์ไปชนกัน ทำให้ไม่เข้าใจกันหรือเข้าใจผิด ถ้าจะต้องสื่อสารจริง ๆ ให้สื่อสารหลังจากที่อารมณ์เราคงที่ก่อน แล้วใช้การสื่อสารทางบวก

 

จริง ๆ แล้ว อยากให้ลองปรับทั้ง 2 ฝั่ง น้องก็คงไม่อยากร้องทุกครั้งหรอก แต่มันห้ามไม่ได้ คุมไม่ได้

 

บางทีการร้องไห้ไม่ได้แปลว่าต้องอ่อนแอเสมอไป หลายคนร้องไห้เสร็จ อารมณ์ดีขึ้น ก็เป็นการระบายออกอย่างหนึ่ง มันก็มีข้อดีของมัน

 

อยากให้ทำความเข้าใจว่า การร้องไห้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ บางทีก็เป็นแรงขับจากเรื่องที่มากระตุ้นอารมณ์เรา  เกิดขึ้นได้กับทุกคน และทุกวัย ไม่ใช่ตอนเศร้าเท่านั้นที่จะร้อง ตอนที่มีความสุขมากที่สุดก็ร้องได้

 

ถ้าพ่อแม่เห็นว่าลูกร้องไห้ แล้วทำความเข้าใจว่าเพราะอะไรถึงร้อง ใช้ empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) ก็จะทำให้เข้าใจลูกได้ดีขึ้น ลูกจะไม่รู้สึกว่าถูกตำหนิต่อว่าอยู่ เขาก็จะกล้าเล่าอะไรให้เราฟังมากขึ้น

 

อีกวิธีหนึ่งคือ การเลือกเดินออกมาจากจุดนั้นก่อน เอาตัวเองออกไปเพื่อไม่ให้เรื่องลุกลามใหญ่โตหรือรุนแรงขึ้น มาเก็บอารมณ์ตัวเอง หรือน้อง ๆ ที่ยังเด็กอยู่ ก็สามารถฝึกใช้วิธีการนับ หายใจเข้า นับ 1 2 3 นับตัวเลขไปเรื่อย ๆ จนเห็นว่าอารมณ์ตัวเองสงบลง

 

อีกเรื่องที่อยากเพิ่ม คือ แนวทางการสื่อสารพูดคุยกัน ควรเป็นการสื่อสารทางบวก เพื่อบอกอารมณ์ความรู้สึกของทั้งพ่อแม่ลูก และบอกถึงความต้องการหรือความคาดหวังของแต่ละคน

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัฐนันท์ ฐาปนาประเสริฐ

แขกรับเชิญ: ปวีณ์สุดา สานิสี 

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER