Money and the Family EP.11 คิดให้ดีออกรถให้

20 พฤษภาคม 2020 90 ครั้ง

Money and the Family EP.11 คิดให้ดีออกรถให้

หลาย ๆ ครั้งเรื่องเงินเป็นตัวช่วยบั่นทอนความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว ถ้าเราบริหารความสัมพันธ์ได้ดีแล้ว อย่าลืมบริหารการเงินที่ไปเกี่ยวโยงกับเรื่องของสายสัมพันธ์ด้วย มิฉะนั้นก็จะมีปัญหาได้

ในช่วง1 เดือนที่ผ่านมา มีคำถามเรื่อง “กู้ซื้อรถยนต์” เข้ามาเยอะมาก เจ้าของเรื่องทำเรื่องกู้ซื้อรถยนต์ คือ กู้ในนามตัวเอง แต่ไม่ได้ออกรถไว้ใช้เอง ออกรถให้กับคนใกล้ตัว อาจเป็นพี่ น้อง พ่อ แม่ หรือเพื่อน โดยคนใกล้ตัวสัญญาว่าจะผ่อนตามงวดจนครบถ้วน เมื่อผ่อนครบผู้กู้ก็จะทำเรื่องโอนรถให้ ฟังแล้วก็ไม่เป็นภาระ แค่ทำเรื่องให้ จากนั้นเขาก็ผ่อนตามปกติ เรื่องก็คงจะไม่มีอะไร ถ้าทุกอย่างผ่อนตามปกติ แต่สุดท้ายไม่ผ่อน เรื่องลุกลามมาไกลถึงขั้นว่า นั่งทำงานอยู่ที่ออฟฟิศดี ๆ ก็มีบริษัทลิสซิ่งมาติดตาม ขอรถคืน (ลิสซิ่งจะมาเอารถคืนก็ต่อเมื่อเราไม่ผ่อนไปแล้ว 3 เดือน)

 

ผู้กู้ก็เดือดเนื้อร้อนใจ โทรกลับไปถามคนใกล้ตัวว่า ทำไมไม่ผ่อน ผ่อนไม่ไหวทำไมไม่บอก ที่น่าตกใจคือ ปลายสายบอกว่าไม่รู้จะผ่อนยังไง ไม่มีตังค์ รายได้ไม่มี ทางคนกู้เลยบอกว่า ถ้างั้นเอารถมาคืนจะได้จบ ๆ เรื่องโป๊ะแตกตรงนี้ เพราะปลายสายตอบมาว่า เอารถไปจำนำแล้ว ได้เงินมาก้อนหนึ่ง แล้วไปทำกิจการ แล้วก็เสียหาย

 

มาถึงวินาทีนี้ ผู้กู้ก็ต้องผ่อนลม ยกเว้นว่าจะฟ้องแจ้งความว่ารถหายหรือเปล่า ถ้าฟ้องแจ้งความรถหาย คนที่เอารถไปใช้คือคนใกล้ตัวก็จะถูกจับ ถ้าเรื่องมาถึงตรงนี้คงช่วยแก้อะไรไม่ได้ เพราะว่าเป็นไปตามสัญญา เป็นไปตามกฎหมาย 

 

เพราะฉะนั้น ฝากถึงทุกคนว่า การทำเรื่องกู้ซื้อสินทรัพย์ แล้วให้คนอื่นนำไปใช้งาน เป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงมาก แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นบุคคลในครอบครัวเราก็ไม่ควรประมาท

 

เพราะฉะนั้นในเบื้องต้น เวลามีใครมาถามอยากให้ช่วยออกรถให้ ให้ถามกลับไปว่า แล้วเขาผ่อนเองไม่ได้เหรอ ถ้ายังผ่อนเองไม่ได้ก็ต้องเก็บเงินสักหน่อย มีเงินดาวน์แล้วจะได้ผ่อนต่อเดือนต่ำหน่อย ทำเรื่องกู้ได้ แต่บางคนมักมีเงื่อนไข เช่น ถ้ามีรถคันนี้ก็จะสามารถทำงานได้ ทำมาหากินได้ ซึ่งจริง ๆ หลายคนที่ประกอบอาชีพที่ต้องมีขนของเยอะ ๆ เขายังไม่มีรถเป็นของตัวเองก็ทำมาหากินได้ ถ้ามีออเดอร์ มีงานอาจจะจ้างรถเป็นครั้ง ๆ กำไรถูกตัดทอนไปหน่อย แต่ก็ไม่ได้เป็นการสร้างภาระระยะยาว เพราะงั้นถ้าเป็นคนใกล้ตัว ก็อาจจะพูดหรือให้คำแนะนำแบบนี้

 

สิ่งที่อยากเตือน

 

1. คิดให้ดีก่อนทำสินเชื่อลักษณะนี้ให้กับใคร เพราะเมื่อเกิดความผิดพลาดทางการเงินขึ้นมา คนที่ไม่ใช่เจ้าของเรื่องเขาไม่รู้สึกหรือเจ็บปวดมากเท่ากับเจ้าของเรื่อง

 

2. ถ้าตัดสินใจช่วยไปแล้วแนะนำให้มอนิเตอร์ (monitor) สักนิดหนึ่ง มอนิเตอร์คนที่เอารถไปใช้ คนที่ให้ออกรถให้ อาจจะเช็กกับบริษัทลิสซิ่งว่ามีเงินชำระปกติไหม หรืออาจจะตรวจข้อมูลเครดิตเลยก็ได้

 

3. คนผ่อนให้จะต้องกลัวหรือเปล่าว่า ถ้าผ่อนจนหมดแล้วเราไม่โอนให้เขาจะเป็นเรื่องใหญ่กว่า แต่คุณต้องสู้อยู่ 60 เดือน - 72 เดือนเป็นความเสี่ยงที่ยาวนานกว่ามาก หนี้ที่เจ็บปวดที่สุดคือหนี้ที่เราไม่ได้ก่อเอง

 

อยากให้ทุกคนประเมินให้ดี ถ้าตัดสินใจช่วยคนอื่นก็ลองตั้งโจทย์กับตัวเองว่า ถ้าวันหนึ่งเขาผ่อนไม่ได้ เราผ่อนแทนไหวไหม ถ้าผ่อนแทนไหว จะกระทบกระเทือนการเงินของเราอย่างไร เผื่อทางหนีทีไล่แบบมองโลกในแง่ร้ายไว้ก็ไม่เสียหายเกินไป

 

หลักข้อหนึ่งที่อยากฝากไว้ คือ การเงินเป็นเรื่องส่วนบุคคล เพราะฉะนั้นทุกคนต้องพยายามดูแล รักษา จัดการ แล้วก็บริหารเงินให้กับชีวิตตัวเองให้เป็นอย่างดี เรื่องหยิบยืมเบา ๆ ไว้ได้ก็ดี เพราะว่าเวลาที่เกิดผลร้ายขึ้นมา มันกระทบแรง ไม่ใช่แค่การเงินของคุณ แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ด้วย ฝากเอาไว้ด้วยความปรารถนาดี

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  จักรพงษ์ เมษพันธุ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER