Money and the Family EP.14 การเงินดี พ่อแม่ก็มีสุข

09 มิถุนายน 2020 82 ครั้ง

Money and the Family EP.14 การเงินดี พ่อแม่ก็มีสุข

ถ้าการเงินเราติดขัด แล้วดันไปเกี่ยวพันกับการเงินของพ่อแม่ ทางออกของปัญหานี้จะแก้ได้อย่างไรดี มีเคสตัวอย่างของผู้หญิงคนหนึ่งมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

วันนี้โค้ชหนุ่มได้หยิบยกเรื่องราวของสุภาพสตรีวัย 40 กว่า ๆ ท่านหนึ่งได้มาปรึกษาเรื่องการจัดการหนี้สินที่มีอยู่หลายรายการ จะมีมากขนาดไหน และจะจัดการได้อย่างไร มาติดตามเรื่องราวของเธอคนนี้กันค่ะ

 

สุภาพสตรีท่านนี้เป็นข้าราชการ มีหนี้หลายรายการ ทั้งหนี้สหกรณ์ หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล มีรายได้ไม่พอที่จะใช้จ่ายในแต่ละเดือน นอกจากนี้ยังมีหนี้บ้านหนึ่งหลัง ซึ่งซื้อด้วยเงินสด โดยเงินสดที่ซื้อบ้านนี้ได้ยืมมาจากคุณแม่ โดยมีเงื่อนไขว่า ให้รวบรวมเงินที่พอจะเก็บได้ เอามาส่งคืนให้คุณแม่ทุกปี ปีละ 1 ครั้ง 

 

ด้วยสถานะทางการเงินที่มีภาระหนี้เยอะ รายได้ไม่มาก ทำให้ช่วงแรก ๆ เธอยังจ่ายให้คุณแม่บ้าง 2-3 หมื่น แต่ตอนนี้ผ่านมา 2-3 ปีแล้ว ยังไม่สามารถคืนเงินให้คุณแม่ได้เลย ที่ผ่านมาคุณแม่ไม่เคยคิดดอกเบี้ย จ่ายไม่ทัน ไม่มีจ่ายก็ไม่ได้ตามทวง แค่อาจมีถามถึงบ้าง

 

ปัญหาที่เธออยากมาปรึกษาคือ เธอจะจัดการกับภาระหนี้ได้อย่างไร และปลายปีนี้เธอมีโบนัส ถ้าได้มาจะเอาไปโปะหนี้บ้านดีไหม จริง ๆ แล้วเงินโบนัส เธออยากเก็บไว้เป็นเงินสำรองส่วนหนึ่ง แต่ไม่กล้าไปพูดคุยกับคุณแม่ว่ามีเงินแต่ว่าขอไม่ให้ได้ไหม

 

สิ่งแรกที่โค้ชทำ คือ พูดคุยถึงภาระหนี้ทั้งหมดที่มี รวมถึงรายรับ -รายจ่ายส่วนตัวอื่น ๆ หัวใจสำคัญของการพูดคุยวางแผนการแจ้งหนี้ คือ เพื่อให้เห็นปัญหาของตัวเองอย่างแท้จริงว่ามีขนาดแค่ไหน ใหญ่โตเพียงใด และส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในแต่ละเดือนมากน้อยแค่ไหน จากนั้นทำเป็นงบรายรับ-รายจ่ายล่วงหน้า 6 เดือน วิธีนี้จะช่วยให้มองเห็นอนาคตทางการเงิน เพื่อเตรียมการสำหรับแก้ปัญหาเรื่องหนี้

 

สิ่งที่อยากให้ทำต่อมา คือ เวลาที่มีหนี้แล้วชำระหนี้ไม่ได้ ไม่ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้กู้ยืมบุคคลใกล้ตัว เพื่อน หรือคนรู้จัก รวมไปถึงสถาบันการเงิน วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องคือ การเข้าไปพูดคุยเจรจากับเจ้าหนี้หรือผู้ที่ให้สินเชื่อ สำหรับเคสนี้ยิ่งเป็นคุณแม่ การเข้าไปพูดคุยและบอกกล่าว น่าจะเป็นเรื่องที่ดี 

 

ในส่วนของโบนัส ให้ตัดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเอาไปปิดโปะภาระหนี้ ส่วนที่สอง เก็บไว้กินใช้บ้างเพื่อเติมเต็มความสุขแต่ไม่เกินงบ 1 ใน 3 ของที่ตัดแบ่งมา ส่วนสุดท้าย เก็บออมเผื่อฉุกเฉิน

 

เมื่อแบ่งเป็น 3 ส่วนแบบนี้ก็จะไม่มีเงินไปคืนคุณแม่ โค้ชจึงแนะนำให้ไปบอกกับคุณแม่ว่า หนี้ที่ค้างเรื่องบ้านอยู่ ขอผัดผ่อนไปอีกสักนิดนึง ตอนนี้มีหนี้อยู่เยอะพอสมควร แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจและกำลังเริ่มจัดการหนี้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ปีนี้จะพยายามทำหนี้ต่าง ๆ ให้ลดลงมากที่สุด ปีหน้าจะคืนเงินแม่ให้ได้ สัญญา 

 

การที่ต้องบอกละเอียดแบบนี้ เพราะคนเป็นพ่อแม่เห็นลูกอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ยังตั้งหลักชีวิตไม่ได้ ก็ต้องห่วง ต้องกังวล การทำแบบนี้เป็นการสร้างพันธะสัญญาทำให้ท่านเบาใจ ภูมิใจว่าลูกสามารถคิดได้ ลูกเริ่มต้นที่จะดูแลจัดการช่วยตัวเองอย่างจริงจัง 

 

ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ไม่อยากเห็นความสำเร็จของลูก ซึ่งความสำเร็จของลูกไม่ใช่ความสำเร็จที่ต้องไปแข่งขันหรือไปเปรียบเทียบกับใคร แต่ขอแค่ลูกสามารถเติบโตขึ้นมามีหน้าที่การงานที่ดีทำ ดูแลชีวิตตัวเองได้ ก็ทำให้พ่อแม่มั่นใจได้ว่า ถ้าเขาไม่อยู่ ลูกสามารถดูแลตัวเอง ทำให้เขาหมดห่วงได้

 

สุดท้ายเคสนี้ ก็ได้ไปคุยกับคุณแม่ คุณแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร แล้วก็บอกลูกว่าให้ตั้งใจตั้งหลักตั้งเนื้อตั้งตัวให้ดี แม่อยู่กับลูกอีกไม่นาน แต่ลูกต้องมีชีวิตที่ดีอยู่ต่อไป

 

ฝากถึงคุณลูก ๆ ทุกคน บางทีการทำให้การเงินของเราดี ไม่ได้เป็นการยังประโยชน์กับตัวเราเองเท่านั้น แต่ยังไปถึงพ่อแม่ ทำให้ท่านเบาใจ สบายใจ บางทีท่านอาจจะไม่ได้หวังพึ่งอะไรเรา เพียงแต่อยากเห็นเราไปได้สวย แล้วก็ไปได้ดีเท่านั้นเอง 

 

ขณะเดียวกันก็ฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ด้วย พ่อแม่ที่เริ่มมีลูกเล็ก ๆ แล้วก็กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว บางทีท่านอาจให้เวลากับการทำงานมากเกินไป จนลืมเวลาคุณภาพกับครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องการให้คำแนะนำ การปลูกฝังสร้าง Mindset ทางการเงิน หรือที่เรียกว่า Monetary Sense (สำนึกทางการเงิน) ถ้าเราเอาแต่หาเงิน แล้วก็บอกว่าเราได้ส่งเขาเรียนให้ดีที่สุดแล้ว อยู่โรงเรียนที่ดีที่สุดแล้ว แต่ไม่มีเวลาสอน ปลูกฝัง สร้างแง่คิดให้กับลูกเลย บางทีอาจเกิดความเสียหายในอนาคตได้

 

Monetary Sense เป็นเรื่องที่สามารถสร้างได้ตั้งแต่วัยเด็ก คุณพ่อคุณแม่อาจเล่าเรื่องในวัยเด็ก ค่าขนมของตัวเอง การจัดการค่าขนม การเก็บเงินซื้อของ ไม่ใช่เล่าเฉพาะเรื่องเงิน อาจเล่าหลาย ๆ เรื่องผสมกันไป แล้วก็เอาเรื่องเงินแทรกเข้าไป ก็จะเริ่มเป็นการปลูกฝัง อยากให้ลูกเป็นคนประหยัด ใช้ของคุ้มค่า เป็นคนเก็บออม คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง อย่าคิดแค่ว่าหาเงินให้ได้เยอะที่สุดแล้วเดี๋ยวลูกก็จะสบาย เราจะได้หมดห่วง เรื่องแบบนี้ไม่เป็นความจริง

 

อีกเรื่องที่อยากฝากไว้ คือความรับผิดชอบทางการเงิน เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าสถานการณ์การเงินไม่ได้เป็นไปตามที่คิด ที่หวัง นั่นหมายความว่า กำลังมีอะไรผิดปกติ คุณจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องพยายามต่อสู้เพื่อทำให้การเงินกลับมาดีให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อตัวคุณเอง แต่เพื่อทุกคนที่คุณรัก บางคนอาจไม่ได้ต้องการหรือคาดหวังที่จะพึ่งพาคุณ แต่เขาเพียงต้องการเห็นคุณยืนอยู่ได้ในโลกใบนี้อย่างปลอดภัย เอาตัวรอดได้ และมีความสุข

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  จักรพงษ์ เมษพันธุ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER