Mom Gen 2 EP.55 เลี้ยงลูกแบบไหนก็ได้แบบนั้น

25 สิงหาคม 2021 102 ครั้ง

Mom Gen 2 EP.55 เลี้ยงลูกแบบไหนก็ได้แบบนั้น

“ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” “ดูช้างให้ดูที่หาง ดูนางให้ดูที่แม่” คำเปรียบเปรยเหล่านี้มักถูกนำมาใช้บ่อยมากสำหรับการเลี้ยงดูลูก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ลูกนั้นเหมือนพ่อแม่ หรือลูกของใครก็ย่อมมีอุปนิสัยเหมือนกับคนนั้น การเลี้ยงดูลูกเป็นแบบนั้นจริงหรือ ? มาไขข้อสงสัยได้ใน Mom Gen 2 EP.55 เลี้ยงลูกแบบไหนก็ได้แบบนั้น

 

การเลี้ยงดูลูก บางทีก็มาจากค่านิยม ทัศนคติของแต่ละบุคคล แต่ละครอบครัวที่มีวิถีดั้งเดิม สภาพแวดล้อม ประสบการณ์ องค์ความรู้ รวมไปถึงการแสวงหาความรู้ของพ่อแม่ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อรูปแบบการเจริญเติบโตของลูกทั้งนั้น

 

 

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าลูกของคุณจะเป็นเด็กแบบไหน จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่เช่นไร คนเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก หรือปู่ย่าตายายรอบข้าง ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งนั้น จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าเด็กใกล้ชิดใคร ใครมีโอกาสได้บ่มเพาะ อบรม เด็ก ๆ เหล่านั้น

 

 

เช่น พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงลูกเอง ไม่มีเวลาใกล้ชิด หรือปล่อยให้ผู้อื่นเลี้ยงดู พอลูกเติบโตขึ้นมาแบบขาดความใกล้ชิด และมีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเพราะช่วงวัยอย่างเดียว แต่อาจมาจากการไม่ได้มีช่วงเวลาที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะสร้างสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้น

 

 

หรือพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกเอง ก็มีปัญหาได้ คือ เลี้ยงลูกเอง ตามใจลูก ลูกอยากได้อะไรไม่เคยขัด พอลูกเติบโตขึ้นก็อาจเป็นเด็กที่เอาแต่ใจ ฉะนั้น ถ้าพ่อแม่ตามใจมากจนไร้ขอบเขต ผลก็ไปตกที่ลูก กลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง

 

 

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Diana Baumrind นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ สหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมเด็กและรูปแบบการอบรมเลี้ยงดู ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

 

 

1.  รูปแบบการอบรมเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ คือ มีการควบคุมและตอบสนองความรู้สึกเด็ก

 

2.  รูปแบบการอบรมเลี้ยงดูแบบควบคุม คือ ควบคุมแต่ไม่ตอบสนองความรู้สึกเด็ก

 

3.  รูปแบบการอบรมเลี้ยงดูแบบตามใจ คือ ไม่ควบคุมแต่ตอบสนองความรู้สึกเด็ก

 

 

ต่อมา Maccoby and Martin ได้เพิ่มเติมรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูแบบที่ 4 คือ

 

4.  รูปแบบการอบรมเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง คือ ไม่ควบคุมและไม่ตอบสนองความรู้สึกเด็ก

 

 

จากการประมวลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศสอดคล้องกันว่า รูปแบบการอบรมเลี้ยงดูที่มีประสิทธิภาพที่สามารถหล่อหลอมให้เด็กและเยาวชน เป็นผู้มีความสามารถในการปรับตัว มีพฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสม และมีความฉลาดทางอารมณ์ คือ รูปแบบการอบรมแบบเอาใจใส่ คือ ควบคุมและตอบสนองความรู้สึกเด็ก

 

 

มนุษย์ทุกคนถึงจะมีต้นทุนเดิม นิสัยเดิม มีพื้นเดิมที่ติดตัวมา แต่การเลี้ยงดู การเอาใจใส่ การส่งเสริมสภาพแวดล้อม ทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนมีส่วนในการส่งเสริมให้เด็กคนหนึ่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพหรือเปล่า ถ้าลูกของเราไปก่อปัญหา ก็ขอให้รับรู้ไว้ว่า เราก็ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย สิ่งที่ลูกกระทำ ส่วนหนึ่งเราก็มีส่วน จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ มันเป็นผลผลิตที่พ่อแม่ทำให้วันนี้ลูกเป็นแบบนั้น

 

 

การเลี้ยงลูกเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เราควรเลี้ยงให้เขาเป็นธรรมชาติ และเติบโตขึ้นมาอย่างสมวัยตามศักยภาพของเขา โดยมีพ่อแม่คอยทำหน้าที่เป็นโค้ชในการส่งเสริม และให้คำแนะนำในการให้เขาค้นหาตัวเอง

 

 

บทบาทที่สำคัญที่สุดของคนเป็นพ่อแม่ ไม่ใช่ชี้หรือขีดเส้นให้ลูกเดินตามเรา แต่ต้องคอยประคับประคอง ส่งเสริม สนับสนุน และแนะนำ เพื่อให้ลูกได้ค้นหาตัวเองเจอ ที่สำคัญพ่อแม่ต้องหมั่นหาความรู้ สุดท้ายแล้ว ลูกจะเติบโตอย่างไร ก็ขอให้เขาเป็นตัวเอง รู้จักตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนคนอื่น การรู้จักตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ต่อไปในโลกกว้างด้วย

 

 

อย่าพยายามกดดันหรือเปลี่ยนแปลงตัวลูก ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับบ้านอื่น ต้นทุนเดิมของเราแค่ไหน ก็เลี้ยงลูกที่มีคุณภาพได้ไม่แตกต่างกัน อยู่ที่การแสวงหาความรู้บวกกับความรักของพ่อแม่ แล้วก็พยายามหาช่วงเวลาที่มีคุณภาพ เพื่อที่จะเป็นพ่อแม่ที่มีคุณภาพ แล้วคุณก็จะได้ลูกที่มีคุณภาพ

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER