On the Way Home EP.40 ชีวิตคือการเรียนรู้ที่จะทำผิดน้อยลงเรื่อย ๆ

27 พฤศจิกายน 2020 159 ครั้ง

On the Way Home EP.40 ชีวิตคือการเรียนรู้ที่จะทำผิดน้อยลงเรื่อย ๆ

วันนี้อยากจะนำเสนอหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า บางทีเราก็ลืมคิดไปว่า... ของคุณพิทยากร ลีลาภัทร์ จัดพิมพ์โดย SOOK Publishing เป็นหนังสือที่รวบรวม 30 คำคมและข้อคิดเพื่อเข้าใจชีวิตและเข้าใจโลกตามจริง

 

คำคมลำดับที่ 4 การเรียนรู้จากความผิดพลาด

 

“ผมได้เรียนรู้หลายสิ่งจากครู เรียนรู้มากขึ้นจากหนังสือ แต่ที่สอนผมมากที่สุด คือความผิดพลาดของผมเอง” - นิรนาม

 

ซึ่งผู้เขียนได้หยิบยกนิทานจากพระไตรปิฎกมาเล่าประกอบไว้ ดังนี้

 

มีลูกศิษย์กับอาจารย์คู่หนึ่ง วันหนึ่งลูกศิษย์ไปเจอลูกงูเห่าตัวเล็ก ๆ รู้สึกว่าน่ารักดี เลยเอามาเลี้ยงในกระบอกไม้ไผ่ ตั้งชื่อให้ด้วย อาจารย์ก็เตือนว่า อย่าเอางูมาเลี้ยง เอาไปปล่อยซะ มันอันตราย แต่ลูกศิษย์ไม่เชื่อ คอยป้อนข้าวป้อนน้ำจนงูเห่าน้อย ๆ ที่น่ารักน่าเอ็นดูเติบโตขึ้น

 

วันหนึ่ง ลูกศิษย์ไปธุระต่างเมือง ลืมให้อาหารงูหลายวัน กลับมาก็คิดถึงสัตว์เลี้ยงแสนรัก รีบกุลีกุจอเปิดกระบอกไม่ไผ่จะล้วงเอางูมาเล่นด้วย ปรากฏว่า งูที่ถูกขังเอาไว้ ทั้งหิวทั้งโมโห จึงฉกเข้าที่มือของลูกศิษย์คนนี้ จากนั้นก็เลื้อยหนีหายไป ลูกศิษย์ล้มลง สักพักก็ตัวแข็งทื่อ น้ำลายฟูมปาก ตายอยู่ตรงนั้น ตายเพราะพิษงูที่ตัวเองเลี้ยงมากับมือ

 

ผู้เขียนบอกว่า บทเรียนที่เราได้รับในชีวิตหลายบทเรียน ถ้ายังไม่ถึงขั้นเสียชีวิตก็นับว่าเป็นโอกาสดีของเราที่จะได้แก้ไขปรับปรุง ฉะนั้นมันไม่สำคัญว่า เราจะได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาด เท่ากับความจริงที่ว่า แล้วเราจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เราได้เรียนรู้ในครั้งนี้ เพราะว่าถ้าได้บทเรียนแล้ว เรียนรู้แล้ว เห็นผลลัพธ์แล้ว ยังกลับไปทำแบบเดิม มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่ต่างไปจากคนที่ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ซึ่งก็น่าเสียดาย

 

โทมัส อัลวา เอดิสัน นักวิทยาศาสตร์ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า เป็นคนแรก เขาทดลองมาเป็นร้อยเป็นพันครั้งกว่าจะสำเร็จ เสียเวลา เสียเงินทุน เสียหลอดไฟไปมากมายกับความผิดพลาด

 

เคยมีคนไปถามเขาว่า ทำไมถึงไม่ถอดใจ เอดิสันบอกว่า “ผมไม่ได้คิดว่าผมล้มเหลว แต่ผมได้เรียนรู้วิธีที่ไม่ได้ผลถึงพันวิธี”

 

พระอาจารย์พรหมวังโส เป็นพระฝรั่งที่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อชา ท่านเคยสอนว่า “ชีวิตคือการเรียนรู้ที่จะทำผิดน้อยลงเรื่อย ๆ” 

 

เราทำผิดกันอยู่เป็นปกติ ทั้งทำผิดโดยตั้งใจ ห้ามใจตัวเองไม่ได้ ควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือด้วยความไม่รู้ แต่ชีวิตคือการเรียนรู้ที่จะไม่ทำผิดซ้ำเดิม คือเรียนรู้ที่จะทำผิดน้อยลงเรื่อย ๆ นอกเหนือจากการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง คำสอนจากประสบการณ์ของคนที่ผ่านมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ นั่นก็เป็นอีกหนึ่งวิถีทางของการเรียนรู้

 

 

 

คำคมลำดับที่ 5 “อย่าเอาบทที่ 1 ของเรา ไปเทียบกับบทที่ 20 ของคนอื่น”

 

ในบทนี้ได้หยิบยกชีวิตของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุนที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของโลก เขาไม่ได้รวยอย่างเดียว แต่ยังใจดี ใจบุญ เป็นคนรวยที่ใช้ชีวิตแบบสมถะ พอเพียงในแบบของเขา คือ อยู่บ้านหลังเดิม ๆ ชอบกินข้าวโพดคั่วเวลาดูทีวี ขับรถธรรมดา ๆ เก่า ๆ คันเดิม แล้วก็ยกทรัพย์สินส่วนใหญ่กว่า 85 % ให้กับการกุศล

 

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เกิดในครอบครัวธรรมดา ๆ พ่อเป็นพนักงานโบรกเกอร์ค้าหุ้น เขาเริ่มต้นเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตั้งแต่วัยเด็กด้วยการทดลองซื้อหุ้นตัวแรกกับพี่สาวตอนอายุ 11 ปี ด้วยเงินลงทุน 38 เหรียญ แล้วก็ขายไปในราคา 40 เหรียญ ก่อนจะพบว่ามันพุ่งขึ้นไปถึง 200 เหรียญ

 

สมัยเป็นวัยรุ่น วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยทำงานปั่นจักรยานส่งหนังสือพิมพ์ ขายโพยแข่งม้า ลงทุนซื้อตู้เล่นพินบอลไปตั้งในร้านตัดผม เขาทำงานตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วก็เรียนรู้ที่จะลงทุนทำให้เงินงอกเงยด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยอาศัยเงินเก็บจากการทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองไปลงทุน เขาไม่ได้ขอเงินจากพ่อหรือไปกู้ยืมมาจากที่ไหน เขาค่อย ๆ สะสม ค่อย ๆ เติบโต

 

ฉะนั้นคำกล่าวที่บอกว่า อย่าเอาบทที่ 1 ของเราไปเทียบกับบทที่ 20 ของคนอื่น ผู้เขียนจึงบอกว่า แทนที่จะไปดูว่าเขาลงทุนอย่างไร มันต้องย้อนกลับไปดูบทที่ 1 ที่ 2 ของเขาก่อนว่า เขามีชีวิตอย่างไร

 

นอกจากนี้วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังเคยบอกเอาไว้ว่า “จงยอมให้ตัวเองเป็นมือใหม่ เพราะไม่มีใครเริ่มต้นด้วยการเป็นสุดยอดฝีมือ”

 

 

คำคมลำดับที่ 10 พึงระวังวิธีคิดของตัวเอง

 

เธอจงระวังความคิดของเธอ เพราะความคิดนั้นจะกลายเป็นการกระทำ

 

เธอจงระวังการกระทำของเธอ เพราะการกระทำนั้นจะกลายเป็นความเคยชิน

 

เธอจงระวังความเคยชินของเธอ เพราะความเคยชินนั้นจะกลายเป็นนิสัย

 

เธอจงระวังนิสัยของเธอ เพราะมันจะกำหนดชะตากรรมของเธอ

 

(จากสุภาษิตจีน)

 

 

 

สำหรับผู้ที่สนใจอ่านคำคมอื่น ๆ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ในหนังสือ บางทีเราก็ลืมคิดไปว่า... ผู้เขียน คุณพิทยากร ลีลาภัทร์ จัดพิมพ์โดย SOOK Publishing

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER