On the Way Home EP.20 เล่าเรื่องกรุงสยาม ๓

10 กรกฎาคม 2020 52 ครั้ง

On the Way Home EP.20 เล่าเรื่องกรุงสยาม ๓

On the Way Home อีพีนี้จะพาย้อนอดีตกลับไปในสมัยรัชกาลที่ ๔ อีกครั้งกับหนังสือ เล่าเรื่องกรุงสยาม ไปติดตามเรื่องสัตว์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจในอดีตผ่านการเล่าเรื่องของ มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสกันค่ะ

จากหนังสือเล่าเรื่องกรุงสยาม บาทหลวงปาลเลกัวซ์ ได้เล่าเรื่องสัตว์ต่าง ๆ ให้ฟังเกือบทุกประเภท แต่ในที่นี้จะหยิบยกมาเฉพาะบางชนิด ดังนี้

 

 

ช้าง

 

บาทหลวงปาลเลกัวซ์ บอกว่า ข้าพเจ้าจะเริ่มด้วย ช้าง ซึ่งเป็นสัตว์จตุบาทที่น่าสังเกตที่สุด (จตุบาท แปลว่า สี่เท้า) ใหญ่ที่สุด ปกติแล้วเราจะเจอช้างอยู่รวมกันเป็นโขลง กินใบไม้ ใบหญ้า หรือว่าร่อนเร่พเนจรไปที่โน่นที่นี่ ช้างจะมีเสียงเรียกกันเพื่อไม่ให้แตกโขลง เขาจะเรียกกันเอง ปกติช้างจะไม่ทำร้ายคน นอกจากว่าคนจะไปจู่โจมช้างก่อน หรือว่าอาจจะเข้าไปใกล้ช้างมากเกินไปในเวลากลางคืน ทำให้ช้างเกิดความหวาดระแวง

 

ถ้าช้างพบเรือชาวบ้านจอดอยู่ใกล้ตลิ่ง มันจะจมเสียทันที (จมเรือ) เพราะฉะนั้นชาวบ้านจึงต้องคอยระมัดระวังกันมาก แต่ก็มีกฎหมายห้ามไม่ให้ฆ่าช้าง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีพรานที่บุกเข้าไปในป่า ใช้ปืนยิงช้างล้มปีละมิใช่น้อยเพื่อที่จะเอางา

 

ในทุก ๆ ปี บรรดาเจ้าเมืองทั้งหลาย ก็จะมีวิธีการจับช้าง เขาจะปล่อยช้างพังหรือช้างตัวเมียจำนวนหนึ่งเข้าไปในป่า จากนั้นต่อมาหลาย ๆ เดือน ก็จะเป่าเขาเรียกช้างพังเหล่านั้นกลับมา เมื่อถึงเวลาช้างพังเหล่านั้นก็จะนำช้างเถื่อนติดตามมาด้วยหลายเชือก พอมาถึงก็จะเอาเข้าเพนียด จากนั้นก็จะเริ่มกระบวนการฝึกช้างป่าให้เชื่อง โดยปล่อยทิ้งเอาไว้โดยไม่ให้กินอาหารหลายวัน  แล้วก็ทำบ่วงบาศก์คล้องตีนช้างเอาไว้ล่ามกับเสา แล้วก็ทอดอ้อย ทอดหญ้าให้กิน ไม่กี่วันมันก็จะได้รับการฝึกให้เชื่อง

 

เมื่อช้างกลายเป็นสัตว์บ้านแล้ว มันจะเป็นสัตว์ที่เชื่อง ฉลาด ทำตามคำสั่งของควาญ แล้วก็เป็นสัตว์พาหนะชนิดเดียว ที่เหมาะสำหรับใช้เดินทางไกลไปในป่า หรือในเส้นทางทุรกันดาร ช้างจะหมอบราบลงกับพื้นดิน เพื่อรับบรรทุกหรือว่ารับคนขึ้นหลัง แล้วก็จะใช้งวงหักกิ่งไม้ที่ขวางหน้า ถ้าเจอพื้นที่ที่เป็นหล่ม เป็นโคลนลึก ๆ ก็จะหมอบคลานไปด้วยเข่า ถ้าเจอแม่น้ำก็จะใช้งวงหยั่งก่อนว่าน้ำลึกขนาดไหน แล้วก็จะก้าวลงไปอย่างระมัดระวัง

 

ช้างว่ายน้ำใต้ผิวน้ำได้ โดยชูงวงขึ้นมาพ้นน้ำเพื่อหายใจ แล้วก็อาจจะลงไปตามทางลาดชันสูง ๆได้ โดยใช้งวงเกาะเกี่ยว ไต่เขาสูง ๆ ก็เก่ง เดินทางได้ทั้งวันทั้งคืน เพียงให้ช้างได้พักผ่อนดื่มกินให้เต็มคราบบ้างเท่านั้น เวลาช้างเหนื่อยจะเอางวงฟาดดิน แล้วก็ร้องเสียงดัง ๆ เหมือนเป่าเขา ช้างจะไม่ได้ใช้อานใส่หลัง แต่จะใช้กูบมีหลังคา คนที่เดินทางเข้าไปนั่งอยู่ในกูบนั้น เมื่อใช้หมอนพิงแล้วก็อาจจะนั่งได้ในท่าที่สบาย การนั่งบนหลังช้างตอนแรกอาจจะรู้สึกโคลงเคลง ๆ หน่อย ๆ แล้วก็เมื่อยอยู่บ้าง แต่ต่อไปก็จะค่อย ๆ ชินไปเอง

 

คนไทยให้ความสำคัญกับช้างเผือก ถือว่าเป็นช้างคู่บารมีของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในสมัยนั้นถ้าช้างล้มก็จะโศกเศร้ากันไปทั้งราชสำนัก แล้วก็จะมีการประกอบฌาปนกิจให้สมเกียรติช้างทุกประการ

 

 

เสือ

 

มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์ พูดถึงเสือ 3 ชนิด ซึ่งพบเจอได้บ่อยในประเทศสยาม ชนิดแรก คือ เสือโคร่ง ท่านบอกว่า เสือโคร่งกินคนด้วย แต่ไม่ค่อยจะได้กินบ่อย ส่วนใหญ่มักจะกระโจนเข้าใส่วัว ควาย กวาง และหมูป่า เป็นเสือที่มีแรงมาก สามารถที่จะลากควายจากหมู่บ้านเอาไปกินในป่า เสียงร้องของเสือจะมี 2 เสียง ถ้าเสือร้องเสียงแหลม แสดงว่ามันได้กลิ่นเหยื่อในระยะไกล ถ้าร้องเสียงกระหึ่ม ห้าว น่ากลัว อันนี้เป็นตอนที่กำลังกระโจนเข้าตะครุบเหยื่อ

 

วิธีที่คนลาวในสมัยนั้นใช้ดักเสือ เขาจะใช้หมาเป็นเหยื่อล่อ ล้อมกรงลงหลักถี่ ๆ เป็นหลักที่แข็งแรง แล้วก็ปล่อยหมาทิ้งไว้ในนั้น 1 ตัว แล้วก็ล้อมรั้วรอบนอกเอาไว้ รั้วรอบนอกจะเป็นช่องแคบ ๆ เปิดประตูทางเข้าให้เป็นช่องไว้  ตอนกลางคืนพอเสือได้ยินเสียงหมาเห่าหอน มันก็จะมา แล้วก็จะเดินเข้าตามช่องทางที่เปิดเอาไว้  พอมันเหยียบบานประตูปุ๊บ บานประตูซึ่งทำกลไกเอาไว้ก็จะปิดลงทันที เจ้าสัตว์ร้ายก็ไม่อาจหมุนตัวได้ ก็จะติดอยู่ในช่องเล็ก ๆ นั่น พอรุ่งขึ้นคนที่ดักก็จะเอาปืนมายิงสัตว์ แล้วก็เอาไปทำประโยชน์

 

ถัดมาคือ เสือดาว มีขนาดเล็กกว่าเสือโคร่ง ไม่ค่อยทำร้ายคนเท่าไหร่ ส่วนใหญ่กินหมา กวาง หรือหมูเป็นอาหาร

 

ชนิดที่สาม คือ เสือปลา ตัวใหญ่กว่าแมวบ้านประมาณ 3 เท่า ชอบกินนก ไก่ เป็ด

 

 

แรด

 

ท่านบอกว่า แรดชอบกินน้ำไผ่ นอของแรดมีสรรพคุณมาก หนังของมันถึงแม้ว่าจะหนาแล้วก็เหนียว แต่เป็นอาหารที่วิเศษ เป็นยาบำรุงกำลังสำหรับคนที่ไม่ค่อยจะแข็งแรง วิธีการกิน คือ จะปิ้งหนัง แล้วก็ขูดรอยไหม้เกรียมออก แล้วก็หั่นเป็นชิ้น ๆ จากนั้นก็เอาไปต้มกับเครื่องเทศ ต้มแบบเคี่ยวให้นาน ๆ มันจะเปื่อยเป็นยางเหนียวแล้วก็ใส

 

 

ม้า

บาทหลวงปาลเลกัวซ์ บอกว่า ม้ามีน้อยเหลือเกินในอาณาจักรสยาม มีผู้นำมาถวายพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงเลี้ยงไว้สัก 100 ตัวเห็นจะได้ ส่วนเอกชนนั้นไม่มีเลี้ยงกันเลย นอกจากต่างจังหวัดไกล ๆ

 

มีคำอธิบายว่า ในประเทศสยามตอนนั้นไม่มีรถ เพราะฉะนั้นเลยไม่มีการใช้ม้าในการเป็นพาหนะลากจูงรถ ม้าใช้อะไรแทบไม่ค่อยได้ สำหรับวิถีชีวิตของคนไทยสมัยนั้น ใช้ไถนาก็ไม่เหมาะ ดังนั้น ม้าจึงแทบจะไม่มีประโยชน์อะไร ตรงข้ามกับวัวและควาย ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ที่ประเสริฐมากสำหรับดินแดนนี้ เอาไว้ไถนา เอาไว้ขนของ แล้วก็เป็นพาหนะลากเกวียน

 

 

หมากับแมว

 

บาทหลวงปาลเลกัวซ์ บอกว่า มีเยอะมากในประเทศสยาม เพราะว่าคนไทยไม่ฆ่าสัตว์ แล้วก็โรคกลัวน้ำดูจะมีน้อยกว่าในฝรั่งเศส คนที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าที่ถูกหมาบ้ากัดไม่ค่อยเจอ อาจเป็นเพราะคนไทยไม่ค่อยคลุกคลีตีโมงกับหมากับแมวเหมือนกับคนในฝรั่งเศส

 

ท่านสันนิษฐานว่า คนไทยไม่ค่อยลูบคลำหมาเหมือนคนในฝรั่งเศส อาจเป็นเพราะอากาศร้อน เลยทำให้พวกสัตว์เหล่านี้มีกลิ่นที่ไม่ค่อยดี แทบทุกวัดจะมีหมามาชุมนุมกันอย่างหนาแน่นเพื่อคอยรับเศษอาหารจากพระภิกษุ แต่หมาไม่ค่อยดุ ตรงกันข้ามมันจะต้อนรับคนแปลกหน้า เพราะรู้ว่าคนแปลกหน้า มักจะนำอาหารมาที่วัด

 

 

หมี

 

บาทหลวงปาลเลกัวซ์ค่อนข้างแปลกใจที่เจอหมีในประเทศสยาม ท่านคิดว่าหมีน่าจะมีแต่ในประเทศเขตหนาวเท่านั้น แต่ในเมืองไทยก็มีหมีถึง 4 ชนิด ท่านพูดถึงหมีชนิดหนึ่งบอกว่าเป็นหมีหน้าหมา อีกชนิดหนึ่งเป็นหมีหน้าคน ท่านบอกว่า หมีเหล่านี้ไม่ดุเหมือนกับหมีในยุโรป เมื่อเห็นคนมาก็หนี ไม่เคยได้ยินว่ามันกัดคนเลย

 

 

นาก

 

ตามชายแม่น้ำและลำคลองจะมีนากเป็นจำนวนมาก ชาวจีนจะชอบหนังนากมาก วิธีการล่านากของชาวจีน คือ จะมีการจับนากตัวหนึ่งมาใส่กรงวางเอาไว้ที่หัวเรือ แล้วก็ไม่ให้ปลามันกิน พอมันอด มันหิว มันก็จะร้องคร่ำครวญ นากอื่น ๆ ที่อยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติที่ได้ยินเสียง ก็จะพากันมาเป็นฝูง พอนากมากันเยอะ ๆ คนบนเรือก็จะยิงปืนใส่นากที่มา แล้วก็เก็บนากที่ตายแล้วลงบนเรือ จากนั้นก็ย้ายไปทำเลที่ใหม่ มีคนเล่าให้ท่านบาทหลวงปาลเลกัวซ์ ฟังว่า เคยใช้วิธีนี้ล่านากได้ถึง 150 ตัวในระยะเวลา 8 วัน

 

 

ตุ๊กแก

 

หนังของมันเต็มไปด้วยจุดแดง ๆ โดยมากอาศัยอยู่ตามหลังคาเรือน เป็นนักล่าหนูและแมลงสาบ เพราะฉะนั้นผู้คนจึงไม่ค่อยทำร้ายสัตว์ชนิดนี้ จนกระทั่งเจ้าสัตว์ชนิดนี้ มันไม่กลัวคน มันก็เลยมักจะมาอยู่ใกล้ ๆ กับคน อาจจะมาอยู่บนเตียง หรือไต่อยู่บนชั้นหนังสือ มันร้องเสียงดังมาก แปลกและน่าขัน ตุ๊กแกอาจจะร้อง 6 ครั้ง หรือ 8 ครั้ง อย่างมากก็ 12 ครั้งติดกัน ร้องทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งทำให้ชาวบ้านว่ากันว่า มันขานโมงยาม กล่าวคือ เป็นนาฬิกาที่มีชีวิตนั่นเอง

 

 

แมลง

 

ในบรรดาแมลงอันหลากหลายที่มีอยู่ในสยามประเทศ มีอยู่ 2 ชนิดที่มีพิษร้ายมาก คือ ตะขาบ กับ แมงป่อง ตะขาบมีเยอะมาก มีทุกขนาด ตั้งแต่ตัวเท่าเส้นด้าย จนถึงขนาดตัวเท่านิ้วหัวแม่มือ แต่ละขนาดแต่ละพันธุ์ก็จะมีพิษที่แตกต่างกัน

 

มีตะขาบชนิดหนึ่ง มีแสงเรือง ตัวบาง เป็นปล้องถี่ ๆ ถ้าบี้มันสักตัวหนึ่งขณะที่เข้านอนในเวลากลางคืน ขณะที่ตื่นขึ้นจะรู้สึกเหมือนกับว่ามีแสงเรืองอยู่ในมุ้ง

 

ส่วนแมงป่องมีอยู่ 2 ชนิด ชนิดเล็กตัวสีเหลืองหม่น ตัวชนิดนี้จะไต่ขึ้นเรือน บางทีก็เข้าไปอยู่ในกระเป๋าเสื้อ ซุกอยู่ในปกหนังสือ ตามซอกตู้ ซอกเตียง เวลาที่กัดจะมีพิษเจ็บปวดมาก ทรมารอยู่ตั้งวันหรือสองวัน สมัยก่อนจะใช้ปูนขาวทา

 

แล้วก็มีแมงป่องชนิดใหญ่ ตัวยาวประมาณ 6-8 นิ้ว สีดำ เป็นมันเลื่อม น่าเกลียด อันนี้คือแมงป่องช้าง ชอบอยู่ตามใต้แผ่นอิฐ ตามที่ชุ่มชื้น เดินช้า งุ่มง่าม เพราะฉะนั้นก็หลีกเลี่ยงได้ง่าย

 

 

แมลงสาบ

 

มีมากในประเทศสยาม มันจะเข้าไปในหีบห่อและในตู้  แทะหนังสือ และทำให้อาหารการกินสกปรก เวลาคนนอนหลับก็จะเข้ามาดูดเหงื่อ แทะเล็บเท้า เล็บมือ ถ้าเทน้ำหวานใส่ขวดทิ้งไว้ รุ่งเช้าก็จะเห็นมันลงไปกินน้ำหวานกัน รอยกัดของแมลงสาบทำให้เป็นตุ่ม และปวดแสบปวดร้อน โดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูฝนจะมีแมลงสาบมากที่สุด วิธีไล่แมลงสาบก็คือ เผาหญ้า รมควัน

 

และนี่ก็คือเรื่องราวของสัตว์ต่าง ๆ ในอดีตที่หยิบยกมาเล่าให้ฟัง ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย หากสนใจสามารถลองไปหาซื้อกันได้กับหนังสือ เล่าเรื่องกรุงสยาม เขียนโดยชาวฝรั่งเศส มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์ แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ ศรีปัญญา

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER