Walk the Talk Season 2 EP.06 ฝึกภาษาผ่านแอพหาคู่(สนทนา)

18 สิงหาคม 2020 215 ครั้ง

Walk the Talk Season 2 EP.06 ฝึกภาษาผ่านแอพหาคู่(สนทนา)

เมื่ออาชีพออแกไนซ์ทำให้ได้โอกาสไปดูงานที่ต่างประเทศ แต่เธอกลับปฏิเสธเพียงเพราะ "ไม่มั่นใจในภาษา" หนทางในการพัฒนาตัวเอง เอาชนะขีดจำกัดในเรื่องนี้มีวิธีไหนบ้าง การคุยผ่านแอพจะช่วยได้จริงหรือ มาติดตามเรื่องราวของ Production Manager คนเก่งได้ใน Walk the Talk season 2 EP.06 กันค่ะ

 

เบื้องหน้าของงานอีเวนต์ไม่ว่าจะเป็น งานปาร์ตีวันเกิด งานคอนเสิร์ต งานเปิดตัวสินค้า งานสัมมนา Roadshow หรืองานประชุมใหญ่ระดับประเทศ คือ แสง สี เสียงที่สวยงาม บรรยากาศสนุกสนาน แต่แน่นอนว่างานทุกงานกว่าจะประสบความสำเร็จได้ด้วยดีนั้นย่อมมีกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลัง กลุ่มคนที่เป็นฟันเฟืองหมุนให้ทุกขั้นตอนดำเนินไปได้อย่างราบรื่นตั้งแต่ต้นจนจบ นั่นคือ “ออแกไนซ์” ผู้ทำหน้าที่จัดการทุกอย่างในงานอีเวนต์ให้เรียบร้อย หลายคนอาจคิดว่านี่เป็นงานที่สนุกสนาน แต่จริง ๆ แล้วมันแฝงด้วยความท้าทายไม่ใช่น้อย “พี่โลมา - วิราสินี นันทนพิสุทธิ์” ขอแชร์ชีวิตการทำงานของ Production Manager ว่าออแกไนซ์จะต้องเจอกับอะไรบ้างที่ Walk the Talk

 

 

Avoiding routine จากสาวบัญชีสู่แสง สี เสียง

 

ก่อนหน้าที่จะเข้ามาโลดแล่นในแวดวงออแกไนซ์ โต๊ะทำงานและเครื่องคิดเลขคือเพื่อนแท้ยามยากของคุณโลมา ความที่เป็นคนทำงานเก่ง มีความคล่องตัวสูงจึงมีคนชวนไปทำงานอยู่เนืองๆ สิ่งที่เธอคิดคือ เธอพร้อมลองทุกอย่างขอแค่งานนั้นไม่ใช่งาน routine เพราะเธอชอบสิ่งที่ท้าทาย ชอบอะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา และแล้วโชคก็เข้าข้างเธอ เธอได้ลองเข้าไปทำงานออแกไนซ์ที่เธอใฝ่ฝันมาตลอดชีวิต และประโยคแรกที่เธอได้รับเมื่อก้าวเท้าเข้าไปคือ “ทำเอง ไม่มีใครสอนนะ”

 

 

Success occurs when opportunity meets preparation - กุญแจสู่ความสำเร็จคือการเตรียมตัวที่ดี

 

งานของออแกไนซ์เริ่มต้นตั้งแต่คุยไอเดียกับลูกค้า ทำความเข้าใจกับ concept และวัตถุประสงค์ของงาน ต่อมาก็วางแผนการทำงานว่าจะจัดงานอย่างไรที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า สร้างความประทับใจ ทำให้งานของลูกค้าโดดเด่น รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์งานบนสื่อ และการจัดกิจกรรมหน้างาน การทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา และต้องบริหารทีมงานและดูแลรายละเอียดของงานที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

 

“โชคดีที่เราเตรียมตัวมาดี เรารู้มาตลอดว่าอยากทำงานออแกไนซ์ ระหว่างทางเราก็จะหาความรู้ใส่ตัว ไปเรียนโน่นนี่ พอโอกาสมาถึงมันเลยง่ายที่จะคว้าเอาไว้” 

 

 

What if I want to be an organizer? อยากทำงานออแกไนซ์ เริ่มจากสำรวจตัวเอง

 

ด้วยลักษณะงานของออแกไนซ์นอกจากจะต้องคิดงานใหม่ ๆ ตลอดเวลา ก็ยังต้องแก้ไขปัญหาตลอดเวลาอีกด้วย ดังนั้นคนที่ทำงานอาชีพนี้จะต้องมีบุคลิกตื่นเต้นกับงานที่ทำ กระตือรือร้น และมีความยืดหยุ่นสูง

 

“ทักษะสำคัญที่ต้องมีเลยคือ Communication Skills ทักษะในการสื่อสาร ไม่ว่าจะรับสาร ส่งสาร คุณต้องรู้จักฟังและส่งสารออกไปได้ครบถ้วน และถ้างานมันมีหลายอย่าง คุณก็ต้อง well organized จัดการเป็น รู้ว่าอะไรสำคัญไม่สำคัญ สุดท้ายเลยคือการทำงานกับคนมันเป็นเรื่องที่ท้าทาย คุณต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง resilience ปรับตัวได้กับทุกสถานการณ์ที่เลวร้ายเพื่อที่จะไปต่อได้ มีความ flexible ยืดหยุ่น ปรับตัวได้ เพื่อทำให้งานคุณเป็นไปได้ ให้มันเกิดขึ้นให้ได้ในทุกสถานการณ์”

 

 

Practice makes perfect - ยิ่งฝึกยิ่งเอาชนะตัวเอง

 

โลกเราทุกวันนี้แคบลงเรื่อย ๆ ถ้าเราอยากเก่งในสายงาน เราต้องไม่ทำตัวแคบตามโลก เราต้องเปิดหูเปิดตาดูว่าคนอื่น ที่อื่น เขาไปถึงไหนแล้ว เขาทำอะไรกันอยู่บ้าง โชคดีที่คุณโลมามีเจ้านายที่มองการณ์ไกล พร้อมที่จะสนับสนุนพนักงานทุกคนให้ได้พัฒนาตัวเอง เมื่อเจ้านายเล็งเห็นศักยภาพการทำงานของเธอจึงคิดส่งเธอไปดูงานที่ฮ่องกง...คนเดียว!

 

“ไม่กล้าค่ะ....วันที่ตอบว่ายังไม่กล้าค่ะพี่ ตอนนั้นก็เสียใจนะ เนี่ยโอกาสฉันมาแล้ว มันไปติดโดนล็อกด้วยความไม่กล้า ไม่ได้ภาษา มันไม่มั่นใจ มันเลยไม่เกิด”

 

หลังจากวันนั้นเธอก็ตั้งปณิธานว่าจะไม่ปล่อยให้โอกาสแบบนี้หลุดลอยไปต่อหน้าต่อตาอีกเพราะไม่ใช่แค่เธอที่เสียโอกาส แต่เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องเธอก็เสียโอกาสในการได้รับความรู้เพื่อพัฒนาตัวเองจากเธอเช่นกัน

 

“ฝึกทุกทาง ดูหนัง ฟังเพลง ไปเรียน แต่ไม่ใช่ฟังเพลงไปวัน ๆ แล้วพูดปร๋อได้เลยนะ ก็ต้องฝึกต้องทำซ้ำ สุดท้ายครูคนไทยแนะนำให้ลองไปเข้าแอพหาเพื่อนฝรั่งมาช่วยฝึกภาษา มันช่วยได้นะแต่เราต้องโฟกัสว่านี่เราต้องการภาษานะ ฮ่า ๆ”

 

ด้วยความมุ่งมั่นทางภาษาและความชัดเจนในวัตถุประสงค์ของการหาเพื่อนฝรั่งทำให้เธอได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษทุกวันผ่านการแชท จนคู่สนทนาอยากช่วยให้ทักษะการใช้ภาษาขยับไปอีกระดับ

 

“เขาก็บอกว่าคุณต้องพูด คุณจะไปเมืองนอกแล้ว text ให้คนอื่นอ่านตลอดมันก็ไม่ได้ไหม”

 

เธอเลยตัดสินใจเปิดกล้องเพื่อฝึกการสนทนาอย่างจริงจัง “ดีใจมากแบบวันนี้ได้ตั้ง 5 นาที อูยวันนี้ 10 นาที วันนี้ได้เป็นชั่วโมงเลยเว้ย คือจับเวลาตลอด”

 

ความสัมพันธ์ระหว่างเธอและฝรั่งคนนี้ที่เธอยกให้เป็นทั้งเพื่อนและครู ช่วยให้เธอมีความสัมพันธ์ที่ดีกับภาษาอังกฤษไปด้วย หลังจากที่เธอได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองมาเป็นเวลากว่า 1 ปี เธอก็พร้อมที่จะทดลองใช้ภาษาอังกฤษในการทำงาน

 

“อูย..กว่าจะได้ประโยคนึงนี่ โห! นี่แค่หนึ่งเมล แล้วอีกหลายรีพอร์ตจะทำยังไง แต่ก็ต้องทำเพื่อให้เกิดการทำซ้ำและมั่นใจ จะได้ย่นย่อเวลาในครั้งหน้า”

 

 

This is not a hotel – เก่งไปทุกเรื่องจนลืมเรื่องสำคัญ

 

“เมื่อก่อนทำงานแบบ 24/7 กลับบ้านมาเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วออก จนวันหนึ่งแม่บอกว่า นี่ไม่ใช่โรงแรมนะลูก ก็สะอึกเหมือนกันนะ เลยเริ่มกลับมานั่งทบทวน เออเจ้านายก็เคยทักว่า เรียงลำดับงานถูกหรือเปล่า work hard แต่ไม่ work smart มันไม่โอเคนะ เลยรู้สึกว่าไม่ได้การแล้ว ถ้าฉันออกไปรุ่งโรจน์ข้างนอก แม่ฉันก็ต้องเอนจอยด้วย”

 

เธอเริ่มด้วยการเอานิสัยออแกไนซ์มาจัดการตารางตัวเอง เธอใส่สิ่งที่ต้องทำลงไปทั้งกับงาน ตัวเธอเอง และครอบครัว เพราะถ้าเธอทำ timeline ให้ลูกค้าได้ เธอก็ต้องทำให้ตัวเองได้ แต่มันไม่ได้ง่ายอย่างที่เธอคิด เมื่อคุณแม่ของเธอเริ่มมีนิสัยติดบ้านไม่ยอมออกไปไหนเหมือนเมื่อก่อน เธอจึงต้องเริ่มด้วยการชวนคุณแม่ออกมาเดินเล่นหน้าบ้าน แล้วค่อยเขยิบไปที่สวนสาธารณะที่ที่คุณแม่ของเธอได้เจอกับเพื่อนในวัยเดียวกัน

 

“พอได้ออกไปข้างนอก มีคนแชร์ เขาก็ได้พูดมากขึ้น ได้คิดเยอะขึ้นไม่ใช่คิดเรื่องเก่า ๆ ซึ่งก็ดีกับผู้สูงอายุ เขาเริ่มดูสดใสมีชีวิตชีวา”

 

หลายครั้งที่คนเป็นลูกหลานออกไปทำงานเพื่อสร้างโอกาสดูแลพ่อแม่ให้ได้ดีที่สุดในอนาคตจนลืมอยู่กับปัจจุบัน หรือพูดง่าย ๆ คือ ลืมใช้เวลาในปัจจุบันกับท่านให้ดีที่สุด

 

“เพราะเราจะเข้าใจว่าเก็บพ่อแม่ไว้ในที่ที่ปลอดภัยที่สุดคือที่บ้าน บ้านถูกปรับสภาพให้เหมาะกับเขา เราได้เก็บพ่อแม่ไว้ที่หอคอยงาช้าง แล้วเขาคงมีความสุขตรงนั้นเพราะเขาไม่เคยบอก ส่วนเราก็ออกไปข้างนอก โดยเราก็ไม่รู้ว่า ฉัน(พ่อแม่)ก็เบื่อหอคอยของเธอแล้ว”

 

 

ศัพท์เพิ่มเติม

 

1.         What was your toughest task? งานที่หินที่สุดคืออะไร

 

2.         Say one thing but do another. พูดอย่างทำอย่าง

 

3.         Do not sweep any problem under the rug. อย่าเพิกเฉยกับปัญหา ไม่ยอมแก้ปัญหา (เปรียบเทียบเหมือนกวาดขยะไว้ใต้พรม)

 

4.         What type of people frustrates you most? คนประเภทไหนที่ทำเรารำคาญ ทนไม่ไหวที่สุด

 

5.         Impolite ไม่สุภาพ

 

6.         We are all human. We have to respect each other. เราก็เป็นคนเหมือนกัน ควรเคารพซึ่งกันและกัน

 

7.         Don’t think for others. อย่าคิดแทนคนอื่น

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัฐนันท์ ฐาปนาประเสริฐ

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER