เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.27 หนูเป็นรึเปล่า ไฮเปอร์ สมาธิสั้น

27 สิงหาคม 2020 103 ครั้ง

เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.27 หนูเป็นรึเปล่า ไฮเปอร์ สมาธิสั้น

สมาธิสั้น หรือ ไฮเปอร์ คือกลุ่มคนที่มีลักษณะการทำงานของสมองบางส่วนที่บกพร่องไป เด็กที่เป็นสมาธิสั้นจะมีองค์ประกอบอะไรบ้าง มาติดตามกันต่อได้ใน เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.27 หนูเป็นรึเปล่า ไฮเปอร์ สมาธิสั้น

 

เด็กที่มีสมาธิสั้นมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง

 

1. เด็กซนมาก ไม่อยู่นิ่งเลย เล่นอะไรเสี่ยง ๆ แผลง ๆ

 

2. เรื่องของสมาธิ เด็กไม่สามารถรวบรวม ประมวลผลออกมาได้  ฟัง ๆ อยู่ก็จับใจความไม่ได้ เพราะไม่มีสมาธิอยู่กับจุดนั้น

 

3. หุนหันพลันแล่น รอไม่ได้ ตอบโต้เร็ว รวมถึงควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้

 

 

วิธีสังเกตเด็กที่มีอาการสมาธิสั้น

 

อาการต่าง ๆ ต่อไปนี้ซึ่งมีหลายอาการประกอบกันจึงจะสรุปได้ว่าเด็กเป็นสมาธิสั้น เช่น ไม่ละเอียด ไม่มีความตั้งใจ ไม่ทำตามคำสั่ง ไม่สามารถจัดระเบียบในการทำงานต่าง ๆ ขี้ลืม ทำของหายบ่อย ๆ เล่นตลอดเวลา ไม่อยู่เฉย ๆ พูดมาก ไม่ค่อยรอ รอไม่ได้ ขัดจังหวะคนอื่นตลอด ถ้าอยู่ในที่ต้องอยู่เฉย ๆ เช่น ในห้องเรียนที่ห้ามวิ่งก็อาจมีอาการเหม่อไปเลย ถ้าลูกเราเป็นหลายข้อหน่อยก็อาจสงสัยได้ว่าเข้าข่ายสมาธิสั้น

 

แต่..เด็กที่ซนมาก อยู่ไม่สุข อยู่เฉยไม่ได้ แต่เวลาให้ทำงานหรือเข้าสู่การเรียนรู้ยังสามารถทำงานเสร็จได้ หรือถ้าต้องประมวลข้อมูลก็ทำได้ เรื่องที่ตัวเองสนใจสามารถจดจ่อได้ แบบนี้ไม่เข้าข่ายสมาธิสั้น แต่เป็นเด็กที่ซนมาก ๆ เท่านั้น

 

โดยปกติแล้วอาจจะสังเกตได้ตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ เริ่มเคลื่อนไหว คือ ซนมาก เคลื่อนไหวมากผิดปกติ แต่บางทีก็ยังไม่ชัดเจน จนเข้าสู่กระบวนการเรียนเริ่มจะบอกได้ และชัดเจนมาก คือ วัยประถม

 

 

เป็นสมาธิสั้นแล้วทำอย่างไรต่อ

 

สมาธิสั้นสามารถรักษาได้ 2 วิธี คือ  การให้ยาและการปรับพฤติกรรม ซึ่งคุณหมอจะเป็นผู้ประเมิน หลายครั้งใช้ทั้ง 2 วิธีในการรักษาร่วมกันควบคู่กันไป และคนที่รักษาอาการสมาธิสั้นได้ดีที่สุดคือ พ่อแม่

 

 

ถ้าลูกเป็นสมาธิสั้น พ่อแม่ต้องช่วยลูกอย่างไร

 

พ่อแม่สำคัญมาก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่อยากให้ลูกทำอะไรให้ได้ พ่อแม่ต้องยอมรับลูกอย่างที่ลูกเป็นให้ได้ก่อน

 

พ่อแม่หลายคนคิดว่า ลูกเป็น ก็เป็นห่วง คิดว่าลูกตัวเองจะทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดี การแสดงออกต่อลูกก็จะเป็นอีกลักษณะหนึ่ง คือคอยเป็นห่วง หรือไปเคี่ยวเข็นในสิ่งที่ยากเกินความสามารถลูก กลายเป็นความเครียดและการกดดัน

 

สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำ คือ พ่อแม่ต้องเข้าใจอาการสมาธิสั้น ซึ่งเป็นปัญหาที่สมองส่วนควบคุมใช้การได้ไม่ปกติ  ลูกไม่ได้แกล้งทำ ถ้าลูกมีการใช้ยาช่วยรักษาแล้ว พ่อแม่ก็ต้องเข้าใจว่าลูกทำได้แค่นี้ ลูกเราโอเค ทำในส่วนที่เขาทำได้ดีอยู่แล้ว เราต้องใช้ใจช่วยที่เชื่อว่าลูกดีเท่าที่ลูกดีได้ อย่าไปคาดหวังในสิ่งที่ลูกทำไม่ได้  ถ้าเขาทำได้ดี ก็ให้รีบชม

 

ในเรื่องดูแลพฤติกรรม พ่อแม่ทำใจยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น เขาจะซนก็ปล่อยให้ซน แต่ก็อยู่ในขอบเขตที่ไม่ทำให้ข้าวของเสียหายหรือเกิดอันตราย แล้วก็จัดวินัยให้ลูกด้วย ให้กิน นอน เล่น เป็นเวลา มีกติกา เด็กเหล่านี้ต้องทำอะไรให้มีเวลาเป๊ะ เพื่อฝึกเด็กให้ควบคุมตัวเอง 

 

ถ้าเราปูพื้นฐานแบบนี้โอกาสที่จะปกติมีสูงมาก เพียงแต่อาจจะไม่เหมาะกับงานบางอย่าง เช่น งานบัญชี งานที่ใช้ความละเอียดยิบย่อย เราแค่เลือกงานให้เหมาะกับลูก แต่อย่าดันงานที่ไม่เหมาะกับเขามาให้ อยู่ที่การยอมรับของพ่อแม่ก่อน อย่าเอามาตรฐานของคนอื่นมาเป็นมาตรฐานของลูก ยอมรับในความเป็นตัวตนของลูก

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ และ นันทิญา จิตตโสภาวดี

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย

นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER