Walk the Talk season 2 EP.08 “Money Talks เงินมา การแสดงไป”

01 กันยายน 2020 63 ครั้ง

Walk the Talk season 2 EP.08 “Money Talks เงินมา การแสดงไป”

ถ้าพูดถึงงานเบื้องหลังของงานโทรทัศน์หรือวิทยุ ตำแหน่งที่เป็นคนคุมชะตาชีวิตของกองถ่าย และเป็นคนรับทุกอย่างไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็คือ โปรดิวเซอร์ นั่นเอง Walk the Talk season 2 EP.08 มีโอกาสได้นั่งคุยกับโปรดิวเซอร์มาดอบอุ่นอย่าง “พี่กอล์ฟ สันติภาพ นวลจันทร์” ถึงชีวิตโปรดิวเซอร์ฟรีแลนซ์ การเปลี่ยนแปลงของคอนเทนต์ที่ส่งผลต่อกระบวนการผลิตรายการ และพัฒนาการทางด้าน Social Media ของผู้สูงวัยในบ้าน

 

What kind of work do you do? งานโปรดิวเซอร์มันไม่มีสอนในห้องเรียน

 

วงการบันเทิงเป็นอีกหนึ่งแวดวงที่มีเสน่ห์ดึงดูดคนทุกเพศ ทุกวัย ในทุกยุคสมัย พี่กอล์ฟเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่นอกจากจะมีความสนใจในงานเบื้องหลังแล้ว กล้องตัวแรกที่ได้มาก็ทำให้เขาเกิดความสงสัยต่อสิ่งรอบตัวอีกมากมาย นำไปสู่การค้นหาคำตอบและตัวตนที่คณะนิเทศศาสตร์


“พี่สงสัยว่า เฮ้ย!ทำไมซูเปอร์แมนมันบินได้วะ”

 

 

How did you get into the business? ลองทำทุกอย่างจะได้รู้ว่าเราเหมาะกับอะไร

 

เราคงเคยได้ยินคำว่าไม่เลือกงานไม่ยากจน แต่อีกหนึ่งอย่างที่เราจะได้จากการไม่เลือกงานหรือการลองทำทุกอย่างคือ เราจะได้รู้ว่าตัวเรานั้นเหมาะกับอะไรหรือไม่ชอบอะไร

 

“ตอนเรียนจบพี่ก็สงสัยนะว่า จบมาได้ยังไงวะ แล้วเอาไงต่ออะ”

 

อีกหนึ่งคำถามที่เด็กจบใหม่ทุกคนต้องเคยถามตัวเองและเกิดความรู้สึก “หลง” จับทิศทางในชีวิตไม่ถูก สิ่งที่เราควรจะทำคือ “ลอง” แต่ต้องเป็นการลองแบบ “มีโฟกัส”

 

หลังจากที่พี่กอล์ฟได้ลองเอาตัวเองเข้าไปแตะงานทุกอย่าง ทำให้เขาตอบตัวเองได้ว่า เขารักงานเบื้องหลัง แม้งานโปรดิวเซอร์เป็นงานที่ต้องจัดการกับปัญหา ต้องตัดสินใจตลอดเวลา ก็ไม่ได้ทำให้พี่เขารู้สึกเหนื่อยหรือท้อแท้ กลับทำให้เขาเข้าใจชีวิตมากขึ้นและอัตตาลดน้อยลง

 

“ปัญหามันมีทุกวัน และฉันนี่แหละจะเป็นคนแก้ปัญหาเอง แล้วการที่เราได้เจอคนหลากหลาย มันทำให้พี่เป็นคนเปิดใจมากขึ้นนะ ไม่ตัดสินใครก่อนจนกว่าจะได้พูดคุยกับเขา”

 

 

Mom on social media สังคมออนไลน์ของคุณแม่

 

เชื่อว่าหลายครอบครัวคงจะมีไลน์กลุ่มที่เอาไว้ส่งสติกเกอร์ทักทายกัน แต่อย่าเพิ่งคิดว่าคนสูงวัยในยุคนี้เขาส่งกันแต่สติกเกอร์นะ หลายคนมีกลุ่มเพื่อนของตัวเอง นัดกันไปนั่งร้านกาแฟ ทำบุญด้วยกัน หรือเที่ยวกัน รวมไปถึงยังเอาไว้ส่งข่าวสาร ทิปส์เกี่ยวกับสุขภาพและการทำอาหาร บางคนอาจจะแอดวานซ์ถึงขั้นมีเฟสบุ๊คเป็นของตัวเองด้วยซ้ำ ลูกหลาย ๆ คนตอนแรกก็รู้สึกดีใจเพราะผู้สูงวัยที่บ้านจะได้ไม่เหงา แต่แล้วก็ต้องรำคาญใจเมื่อผู้สูงวัยเหล่านั้นชอบถามคำถามหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียมาให้แก้กันทุกวี่ทุกวัน

 

“อย่าเพิ่งเบื่อหน่ายเวลาแม่ถามว่า เฟสบุ๊คมันเป็นอะไร ทำไมไลน์มันไม่ขึ้น ทำไมโทรศัพท์โทรไม่ได้ เชื่อเถอะว่ามันจะกลายเป็นสิ่งที่ดีกับคุณ เพราะแทนที่เขาจะมาโฟกัสเรื่องเรา เขาจะไปโฟกัสเรื่องอื่นแทน ดังนั้นช่วย ๆ เขาแก้ปัญหาไปคือดีที่สุด”

 

 

What do you like about your job? เสรีภาพนำมาซึ่งความรัก

 

พี่กอล์ฟบอกว่าคนที่อยู่ในสายงานนี้หยุดไม่ได้ ฟังดูเหมือนเป็นงานที่หนักแต่จริง ๆ แล้วมันคือเรื่องสนุกที่คนเราได้คิด มีอิสระในการคิด ในการทำ และสามารถที่จะต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ ล่าสุดพี่กอล์ฟก็ตั้งใจฝึกฝนภาษาอังกฤษเพื่อนำตัวเองสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

 

“ก็มีเพื่อนชาวฮ่องกงคนหนึ่งที่ช่วยเราฝึกภาษาได้ดีเลยแหละ เมื่อก่อนเขามาเที่ยวปีละครั้ง มาทีสี่วัน วันแรกเขิน ๆ คุยไม่ออก วันที่สองเริ่มสร้างบทสนทนา วันที่สามพูดเป็นคำ ๆ ยังไม่คล่อง วันที่สี่พอจะเริ่มคล่อง หายเขินกันแล้ว แต่เป็นวันที่นางต้องกลับพอดี ฮ่า”

 

หลังจากที่หลายประเทศเผชิญสถานการณ์โควิดก็ทำให้พี่กอล์ฟไม่สามารถที่จะฝึกภาษาอังกฤษแบบตัวต่อตัวได้อีก แต่เพราะความอยากฝึกฝนและพี่เขาก็รู้ดีว่าจะหาคนฝึกด้วยไม่ใช่เรื่องง่าย พี่กอล์ฟจึงต้องปรับโหมดมาเป็นออนไลน์แทนโดยการใช้ไลน์ให้เกิดประโยชน์

 

“สำหรับพี่ทุกอย่างไม่ใช่ปัญหา เพราะปัญหามีทุกวัน เราแค่ต้องมีแผนสำรอง”

 

สุดท้ายนี้พี่กอล์ฟฝากคำแนะนำไว้สำหรับใครที่อยากเป็นโปรดิวเซอร์ว่า “ต้องเป็นคนคิดบวก วางแผนเตรียมรับมือกับสถานการณ์ และปรับเปลี่ยนให้เป็น”

 

 

 

คำศัพท์เพิ่มเติม

 

1.     Money talks. เงินบันดาล

 

2.     The power of starting with why การเริ่มต้นคำถามด้วย “ทำไม” นำไปสู่ความสำเร็จได้

 

3.     Feeling lost or confused รู้สึกสับสน

 

4.     Making merit ทำบุญ

 

5.     I agree with you on that point. ฉันเห็นด้วย

 

6.     I think I have to disagree with you on that point. ฉันไม่เห็นด้วย

 

7.    Could you offer an alternative solution? มีความเป็นไปได้อย่างอื่นไหม (ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับตัวอย่างแรก)

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัฐนันท์ ฐาปนาประเสริฐ

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER