พลิกแฟ้มคดีปวดใจ EP.13 เลิกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

24 พฤศจิกายน 2020 47 ครั้ง

พลิกแฟ้มคดีปวดใจ EP.13 เลิกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

Q : ผมกับภรรยาไม่เข้าใจกัน แยกกันอยู่หลายปีแล้ว และมีลูกด้วยกัน 1 คน รวมถึงมีทรัพย์สินทั้งบ้านและรถยนต์ ตอนนี้ผมเจอคนใหม่แล้ว จะต้องทำตามกฎหมายอย่างไร

 

A : กฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่ตอนที่รักกัน มาจนถึงการหมั้นหมาย การจะให้ของหมั้นให้สินสอดทำอย่างไร และเข้าสู่การแต่งงานทางกฎหมายเรียกว่า สมรส

 

กฎหมายก็จะเข้ามาจัดระเบียบว่า การสมรส มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง ใครกับใครสมรสกันได้ และใครกับใครสมรสกันไม่ได้ เช่น มีสายโลหิตเดียวกันจะสมรสกันไม่ได้ หรือพ่อแม่บุญธรรมกับลูกบุญธรรมก็สมรสกันไม่ได้ รวมถึงคนที่อายุไม่ถึงก็สมรสกันไม่ได้ เป็นต้น

 

ส่วนเมื่อสมรสกันแล้วอยู่ด้วยกันไม่ได้ กฎหมายก็จะเข้ามาช่วยจัดระเบียบ

 

ถ้าคนสองคนอยู่ด้วยกันไม่ได้จะทำอย่างไร

 

อันดับแรกต้องหย่ากัน ซึ่งการหย่าจะมี 2 วิธี คือ

 

1. ต้องหย่าด้วยความสมัครใจ

 

โดยการไปหานายทะเบียนและแจ้งความประสงค์ว่า ต้องการจะหย่ากัน ซึ่งทั้งสองคนต้องมาพร้อมกันต่อหน้านายทะเบียน ในระเบียบของกรมการปกครองกำหนดไว้ให้นายทะเบียนดำเนินการประนีประนอมไกล่เกลี่ยว่าต้องการจะหย่าจริงหรือไม่ เมื่อสุดท้ายไม่ได้แน่นอน ก็จะมีการจดทะเบียนหย่าให้

 

2. ต้องไปฟ้องศาล

 

ซึ่งการฟ้องศาลนั้นจะต้องมีเหตุตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ โดยเหตุทั้งหมดจะมีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น อยู่ด้วยกันแล้วเป็นปฏิปักษ์กัน เป็นอันตรายอย่างร้ายแรง คือมีการตบตีกัน ดุด่าถึงบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง บีบคั้นทางจิตใจจนกระทั่งอยู่ด้วยกันไม่ได้ หรือเจ็บไข้ได้ป่วยถึงขนาดไม่สามารถรักษากันได้ วิปลาสเกินกว่า 3 ปี ซึ่งเขาจะมีเวลาให้ ถ้าไปรักษาแล้วไม่หายก็ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ รวมถึงอีกฝ่ายหนึ่งไปติดคุกหลายปีก็อยู่ด้วยกันไม่ได้

 

ดังนั้นในกรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งมีการทิ้งร้างไปเกิน 1 ปีโดยไม่มีการติดต่อ ฝ่ายที่ถูกทิ้งสามารถฟ้องหย่าได้ แต่ในทางกลับกันฝ่ายที่เป็นคนทิ้งจะไม่สามารถฟ้องหย่าได้

 

แต่อีกกรณีหนึ่งคือการสมัครใจแยกกันอยู่โดยไม่เกี่ยวข้องกัน

 

คำว่า “ไม่เกี่ยวข้องกัน” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเด็ดขาดทั้งสิ้น เช่นมีบุตรก็อาจมาเยี่ยมกันบ้าง หรืออาจมีการโทรศัพท์หากันบ้าง ถามถึงลูกว่าเป็นอย่างไรบ้าง รวมกระทั่งรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน คือต่างคนต่างอยู่ และรู้ว่าใครอยู่ที่ไหน แต่สมัครใจที่จะแยกกันอยู่แล้ว ซึ่งจะต้องเกิน 3 ปี เพื่อมีระยะเวลาให้แน่ใจว่า ตกลงไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้

 

ถ้าทิ้งร้างเกิน 1 ปี หรือว่าสมัครใจแยกกันอยู่เกิน 3 ปี  ในกรณีที่สมัครใจแยกกันอยู่ ฝ่ายใดมาฟ้องหย่าก็ได้ แต่ทิ้งร้างจะเฉพาะคนที่ถูกทิ้งที่จะฟ้องหย่าได้  ศาลก็จะพิจารณา

 

 

เรื่องของกระบวนการหย่านั้น ไม่ว่าสมัครใจหย่าโดยไปจดทะเบียนหย่า หรือไปฟ้องศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้หย่า หัวข้อใหญ่ใจความคือ “การขอหย่า” จะต้องมาดูว่า จะมีการแบ่งสินสมรสกัน จะตกลงแบ่งทรัพย์สินกันอย่างไร  หรือฟ้องศาลก็สามารถฟ้องเพื่อขอแบ่งได้ด้วยเลย และถ้าเกิดมีบุตรแล้วบุตรจะอยู่กับใครอยู่อย่างไร อำนาจการปกครองจะเป็นของใคร รวมถึงจะจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูอย่างไร

 

ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น  ในกรณีที่คู่สมรสจะต้องปรากฏว่า อีกฝ่ายหนึ่งหลังจากหย่าร้างกันแล้ว เกิดยากไร้ลง (ต้องไม่ใช่เป็นฝ่ายผิด) อีกฝ่ายหนึ่งเลี้ยงดูได้ ก็สามารถขอค่าอุปการะเลี้ยงดูได้สำหรับคู่สมรสก่อนเป็นอันดับแรก

 

อันดับที่สอง คือ การเลี้ยงดูบุตรนั้น ในกรณีที่บุตรกับฝ่ายที่มีฐานะด้อยกว่า แล้วฝ่ายที่หย่าไปมีฐานะที่ดีกว่า ก็สามารถขอให้คนที่มีฐานะดีกว่าให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรจนกว่าบุตรนั้นจะบรรลุนิติภาวะ เมื่อบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว ปรากฏว่าบุตรเป็นคนพิการ ทุพพลภาพช่วยตัวเองไม่ได้ก็จะต้องเลี้ยงดูเขาตลอดไป

 

ส่วนกรณีการไปจดทะเบียนสมรสซ้อนทะเบียนสมรสใบที่สองจะเป็นโมฆะ และการไปแจ้งต่อนายทะเบียนว่าเป็นโสดซึ่งความเป็นจริงมีทะเบียนสมรสอยู่แล้ว ก็จะถือว่าเป็นการแจ้งความเท็จ จะมีความผิดอัตราโทษจำคุก 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งอยู่ที่ดุลพินิจของศาลว่าพฤติการณ์ที่ก่อเหตุร้ายแรงขนาดไหน ถ้าไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงมาก ศาลก็จะเมตตา

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  อ.ชัยยง อัชฌานนท์ อดีตกรรมการสภาทนายความ และ คุณนฤมล พุกยม 

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ถอดเทปเสียง: เจษฎา สดครั่ง

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER