Love Dose EP.10 ตัดให้ได้ ใจต้องนิ่ง

09 ธันวาคม 2020 137 ครั้ง

Love Dose EP.10 ตัดให้ได้ ใจต้องนิ่ง

อีพีที่แล้วพูดถึงเคสคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แล้วการเปลี่ยนสังคม ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น แล้วถ้ากรณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนสังคมได้ จะทำอย่างไร มาติดตาม 2 เคสตัวอย่างกับหนทางเปลี่ยนชีวิต แม้ไม่สามารถเปลี่ยนสังคมได้ ใน Love Dose EP.10 ตัดให้ได้ ใจต้องนิ่ง

 

เคสที่ 1

 

“คุณจุ๋ม” ผู้หญิงวัยเกือบ ๆ 30 ปี มาเจอคุณดินที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย เพราะปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ไม่ได้มีปัญหายาเสพติด เพราะเลิกได้นานแล้ว คือ คุณจุ๋มอยากเลิกบุหรี่ ช่วงนี้สูบหนักมาก เริ่มมีอาการเหนื่อย หลง ๆ ลืม ๆ เลยอยากมาทดสอบประสาท สมอง ผลออกมาไม่ค่อยโอเคเท่าไร มีความเสี่ยงที่จะมีพยาธิสภาพ คุยไปคุยมาก็ได้ทราบว่า เคยเล่นยามาก่อน

 

คุณจุ๋มโตมาในชุมชนแออัดคลองเตย ครอบครัวมีส่วนในการขายยา คุณจุ๋มทดลองใช้โดยเริ่มจากสารระเหย บุหรี่ ต่อมาก็เป็นยาบ้า ไอซ์ เริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ

 

ลองครั้งแรกเมื่อตอนประถม อายุ 10 นิด ๆ แล้วพ่อไปเจอ ตอนนั้นคุณจุ๋มกลัวมาก พอกลับมาบ้าน ปรากฎว่า พ่อเอาให้สูบเลย บอกอยากสูบ สูบในบ้าน คุณจุ๋มก็เลยเล่นยาจนพัฒนามาเรื่อย ๆ

 

เมื่อโตขึ้นก็เข้าออกเรือนจำตลอด จนกระทั่งมีลูกก็ยังเข้าออกเรือนจำอยู่ วันดีคืนดี มีสามีอีกคนหนึ่ง ซึ่งสามีคนนี้ไม่ได้เล่นยา แล้วก็เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาเลิก คือขอตรง ๆ ให้เลิกให้ได้ ไม่อยากให้เกี่ยวข้องกับยาแล้ว แต่ว่าในจุดนั้นก็ยังมีเผลอใช้

 

วันหนึ่ง พอลูกเริ่มพูดได้ เริ่มรู้ความ ภาพเก่า ๆ ตอนที่คุณจุ๋มเป็นเด็ก เริ่มกลับเข้ามา นั่นคือ ภาพที่ถามแม่ว่า พ่อไปไหน  เห็นภาพตำรวจมาเอาตัวพ่อไป แล้วพ่อก็หายไปเป็นปี ๆ แล้วก็คำถามที่ว่า ตำรวจจะมาจับพ่ออีกไหม พ่อเมื่อไหร่จะกลับมาหาเราอีก

 

ซึ่งพอลูกเริ่มพูดได้ คุณจุ๋มก็คิดว่า วันหนึ่งคำถามพวกนั้นจะเกิดขึ้นกับลูกเราเหรอ แล้วลูกจะตอบคนอื่นยังไง ตอบเพื่อนยังไง ทำให้เขาคิดว่า ต้องหยุดแล้วหรือเปล่า เขาเลยหยุด แต่ในการหยุด เขาไม่ได้ย้ายบ้าน ไม่ได้เปลี่ยนกลุ่มเพื่อน เขายังคงอยู่ในชุมชน อยู่ในพื้นที่เดิม เพียงแต่เขามีสิ่งยึดเหนี่ยว ทั้งลูกและสามีใหม่ และอีกสิ่งยึดเหนี่ยวคือ คุณแม่ที่อายุเยอะขึ้น เหลือคุณแม่คนเดียวซึ่งป่วยบ่อย ฉะนั้น ถ้าเขาโดนจับหรือเป็นอะไรไป ใครจะดูแล แล้วลูกก็ไม่ใช่ลูกของสามีใหม่ด้วย

 

นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า คุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสังคม ในกรณีที่คุณเปลี่ยนไม่ได้ สิ่งยึดเหนี่ยวคือสิ่งจำเป็น เมื่อคิดจะย้อนกลับไป เขาก็จะคิดว่า มีคนที่นั่งรออยู่ เลยทำให้เปลี่ยนตัวเองได้ เลิกยาได้อย่างเด็ดขาดด้วยตัวเอง

 

 

เคสที่ 2

 

"คุณอู๋" เป็นสายปาร์ตี้ ฐานะที่บ้านดีมาก จบโรงเรียนดี มีวิธีคิด สติปัญญาดี เรียกว่า มีต้นทุนชีวิต ต้นทุนสังคมดี ไม่มีปัญหาอะไร แต่อาจไม่สนิทกับที่บ้านมาก เป็นคนค่อนข้างเงียบ ๆ เก็บตัว ดื้อรั้น ชอบลองอะไรใหม่ ๆ ชอบท้าทาย คิดอะไรไม่ค่อยเหมือนใคร มั่นใจในตัวเองสูง ลึก ๆ เป็นคนที่มีความเหงา ความโดดเดี่ยว พอเริ่มใช้ยา ก็เริ่มมีสังคม มีเพื่อนเยอะขึ้น ก็จะวนอยู่กับเพื่อนกลุ่มแบบนี้

 

จริง ๆ แล้วคุณอู๋ก็มีเพื่อนสังคมกลุ่มอื่น ที่เขาสามารถจะไปหาได้ แต่เขาเลือกที่จะไปทางนี้ สุดท้ายได้มาเจอกับเพื่อนกลุ่มอื่น ซึ่งไม่ได้ใช้ยา แต่เป็นสายสนุก สายปาร์ตี้เหมือนกัน ได้มารู้จัก ไปเที่ยว ไปต่างจังหวัด ทำอาหารกินกันประจำ แต่เขาก็ยังไม่ทิ้งเพื่อนกลุ่มเดิมที่ยังเล่นยา ยังคุย ยังเจอ พบปะเป็นปกติ ซึ่งในช่วงแรก ก็ยังไม่ได้เลิกขาด มีย้อนกลับไปบ้าง แต่พอมาเจอกับกลุ่มเพื่อนที่ไม่ได้ใช้ยาเสพติด มีกิจกรรมอื่นให้ได้ทำมากขึ้น เลยทำให้เขามีทางเลือกเยอะมากขึ้น

 

อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่าง ในกรณีที่คุณเปลี่ยนสังคมไม่ได้ หรือคุณไม่ได้มีสิ่งยึดเหนี่ยว เช่น ครอบครัว ลูก หรือคู่ชีวิตเหมือนคนอื่น แต่เคสคุณอู๋ สิ่งยึดเหนี่ยวคือ เพื่อน เพราะถ้ากลับไปใช้ต้องโดนด่าแน่นอน

 

จริง ๆ ทุกคนมีสิ่งยึดเหนี่ยว เพียงแต่เราจะหาให้เจออย่างไร

 

 

อยากฝากถึงพ่อแม่ว่า ยาเสพติดเป็นเรื่องที่คุยกันได้ ยังไม่ติดก็คุยได้ เริ่มมีความเสี่ยงก็คุยได้ ติดแล้วก็คุยได้ แม้กระทั่งเลิกแล้ว ก็ยังมีวิธีการที่คุยกันได้อยู่ เพราะการเลิกไม่มีอะไรถาวร อยากให้ทุกคนสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา และตระหนักรู้ว่า ยาเสพติดเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด มีอยู่ในทุกช่วงวัย เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การทำความเข้าใจ คือการแก้ไขที่ตรงจุด

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  เชาวน์พิชาญ เตโช และ อัครเษรต เชวงชินวงศ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER