เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.18 ตีหรือไม่ตี ปัญหาสุดคลาสสิค

25 มิถุนายน 2020 67 ครั้ง

เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.18 ตีหรือไม่ตี ปัญหาสุดคลาสสิค

การเลี้ยงเด็กจำเป็นต้องตีหรือไม่ ? มาฟังคำแนะนำดี ๆ จาก พญ.วนิดา เปาอินทร์ กุมารแพทย์ ในเรื่องนี้กันค่ะ

การทำโทษมีหลายอย่าง ถ้าการทำโทษทำให้เด็กรู้สึกว่าพฤติกรรมที่เขาทำมีผลเสียจริง แบบนี้จะเป็นการทำโทษที่ได้ผลดี ได้ผลระยะยาว เพราะเด็กได้มีการทบทวน ตระหนักกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วยังคงคุณค่าของความเป็นตัวของตัวเองอยู่

 

ยกตัวอย่าง คุณครูโทรหาคุณแม่บอกว่า นักเรียนในห้องบางคนของหาย เลยโทรมาบอกกับ ผู้ปกครองทุกคนว่า ให้ช่วยเช็คกระเป๋าลูกว่าของชิ้นนั้นอยู่ในกระเป๋าลูกหรือเปล่า พอคุณแม่ไปดูก็เจอของในกระเป๋าลูก คุณแม่ทั้งโกรธ ทั้งผิดหวัง

 

ถ้าตัดสินใจใช้การตี คุณแม่ก็จะตีปนไปด้วยความโกรธและผิดหวัง เด็กก็จะรู้สึกว่าตีเพราะเขาทำผิด อาจไม่กล้าขโมยอีกเพราะไม่อยากถูกตี หรือถ้าขโมยอีกก็จะไม่ให้จับได้เพราะไม่อยากถูกตี เด็กไม่มีโอกาสทบทวนอะไรมากนัก เพราะรับบทลงโทษไปแล้ว อาจรู้สึกว่า เขาได้รับการกระทำสำหรับความผิดของเขาแล้ว แล้วก็จบกันไป

 

 

เมื่อโดนตีแล้ว เด็กจะไม่กล้าทำผิดอีกไหม

 

เป็นไปได้ ถ้าการตีนั้นหนักพอ หนักแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กบางคนตี 2 ทีก็หนักมาก เพราะไม่เคยโดนตีมาก่อน ในขณะที่เด็กบางคนตีจนกระทั่งเป็นแนวเยอะไปหมด ก็อาจจะไม่หนักพอเพราะมีอาการด้านชา (อาการด้านชาของเด็กที่ถูกตีเยอะ ๆ อาจเข้าข่ายการทำร้ายเด็กได้) อย่างไรก็ตาม เด็กจะเรียนรู้น้อยกว่าการที่จะไม่ถูกตีแล้วใช้วิธีอื่น เพราะเด็กรู้สึกว่าความผิดถูกชดเชยไปแล้ว เขาไม่ต้องทำอะไรเพิ่มแล้ว เพราะจบไปตั้งแต่โดนตีแล้ว

 

ในทางกลับกัน ถ้าเราเปิดกระเป๋าลูก เห็นว่ามีของอยู่ แนะนำให้คุณแม่ดูแลตัวเองให้สงบลงก่อน ใจเย็น ๆ หายใจเข้าออกลึก ๆ ทำอะไรอย่างอื่นไปก่อน ความผิดหวังเราเลี่ยงไม่ได้ กำจัดออกไม่ได้ แต่บรรเทาความโกรธก่อน พอรู้สึกควบคุมตัวเองได้ โกรธน้อยลงแล้ว คราวนี้ไปคุยกับลูก เริ่มต้นว่า “แม่เจอสิ่งของนี้ในกระเป๋าลูก” อาจหยุดแค่นี้แล้วดูว่าลูกจะพูดอย่างไร หรืออาจบอกว่า “หนูมีอะไรอยากบอกแม่บ้าง”

 

การถามว่า “วันนี้ไปทำอะไรมา ไหนบอกแม่สิ” ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าลูกไปทำอะไรมา แต่อยากให้ลูกสารภาพเอง เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะจะทำให้เสียเวลา แล้วคุณแม่จะโกรธขึ้นมาอีกเรื่องคือ ทำผิดแล้วไม่สารภาพ แทนที่จะโกรธเฉพาะเรื่องที่ลูกขโมยของ กลายเป็นว่าโกรธสองเรื่อง และอาจโกรธเรื่องที่สองมากกว่า

 

เด็กขโมยของอาจจะไม่ง่ายแต่การรับสารภาพยากกว่า แล้วไม่ใช่ยากเฉพาะเด็กแต่ยากสำหรับทุกคน เพราะฉะนั้นแนะนำให้ข้ามขั้นตอนการรับสารภาพ ถ้าคุณแม่รู้ข้อเท็จจริงแล้ว ให้ต่อได้เลย บางทีเราอาจเห็นมุมมองที่ต่างไปจากในจินตนาการของเราเลยก็ได้ว่าเขาหยิบมาเพราะอะไร ฟังเขาก่อน

 

เมื่อได้ฟังเหตุผลของลูก ให้ถามต่อว่า “แล้วหนูคิดว่าสิ่งนี้เป็นความผิดหรือเปล่า” นี่คือการช่วยให้เด็กทบทวนตัวเอง แล้วเราก็จะได้สอนการอยู่ร่วมกันในสังคมไปด้วย แทนที่จะตีแล้วจบกันไป หรืออาจจะถามว่า

 

“ถ้าสมมติมีของหายไปจากกระเป๋าหนู หนูจะรู้สึกอย่างไร”

 

“หนูคิดว่าควรจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับคนที่ขโมยของหนูไป”

 

“หนูคิดว่าคนทำอย่างนี้เขาจะต้องชดเชยอะไรบ้าง”

 

ถามคำถามประมาณนี้แล้วให้เด็กเป็นคนกำหนดสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเขาในความผิดนั้น ๆ เช่น มาดูว่าของมีค่าเท่าไหร่ หนูอาจต้องหักเงินเพื่อไปซื้อของใหม่ให้เพื่อนหรือเปล่า หรือจะชดเชยเพื่อนแบบไหน การทำเช่นนี้จะทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าได้รับผลกระทบกับเขาจริง ๆ

 

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการลงโทษอีกแบบหนึ่ง เพราะต้องรับผิดชอบการกระทำที่ทำไป ซึ่งอาจมีผลต่อชีวิตลูกมากกว่าการตี 1 ครั้งด้วยซ้ำ เพราะเขาต้องเก็บเงินนานแค่ไหนที่จะต้องเอาไปชดเชยของชิ้นนั้น เขาต้องไปแสดงความรับผิดชอบโดยการขอโทษเพื่อนหรือเปล่า ทุกอย่างจะต้องออกมาแล้วพอดีกับความผิด แต่ตัวตนของเขา ความเป็นเด็กดีของเขา เราเชื่อว่ายังมีอยู่ ตัวตนที่ดีของเขาจะมาช่วยชดเชยสิ่งที่เขาทำผิดไป แยกระหว่างตัวตนที่ดีกับพฤติกรรมที่ผิด ในขณะเดียวกันลูกก็ต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมที่ผิด แล้วต้องแก้ไข

 

การลงโทษแบบนี้จะทำให้เขารู้สึกว่า เวลาที่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ไม่มีใครตัดสินเขาอย่างเร็ว มีคนมาถามเขาก่อน ให้เขาอธิบายก่อน เขาจะได้เลียนแบบที่จะรู้จักสอบถามคนอื่นก่อน เมื่อเกิดอะไรขึ้นโดยไม่รีบตัดสินใจ

 

 

ตียังไงให้ได้ผล

 

ถ้าสมมติจะตี ก็ต้องเป็นกรณีที่คุณพ่อคุณแม่กำหนดมา เช่น เหตุการณ์เคยเกิดแล้ว คุณแม่ให้ลูกชดใช้แล้ว อาจบอกลูกว่า “การขโมยของเป็นเรื่องที่แม่รับไม่ได้ คนทั่วไปก็รับไม่ได้ เพราะฉะนั้นครั้งหน้าแม่จะตีนะ หนูว่ายังไง” เพื่อให้เขายอมรับกติกา

 

ถ้าลูกบอกว่า “หนูไม่อยากโดนตี” คุณแม่ก็อาจจะต้องบอกว่า “หนูไม่เอาตีก็ได้ ถ้าไม่เอาตี ก็ต้องไม่เกิดขึ้นอีก แม่มีให้เลือกแค่นี้”

 

เมื่อตกลงกันเรียบร้อย ลูกรับรู้ แต่แล้วก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก เราอาจจะโกรธ ก็ให้ทำเหมือนเดิม คือ ยังไม่ต้องทำอะไรตอนนั้น การตีตอนโกรธจะเป็นการตีระบายอารมณ์และได้ผลน้อย เด็กจะไม่ได้รู้สึกแค่พฤติกรรมที่เลวร้ายอย่างลึกซึ้ง แต่จะรู้สึกถึง ภาพรวมของการโมโห บรรยากาศที่แย่ เพราะฉะนั้น เทคนิคการตีให้ได้ผล คือ ต้องตีตอนไม่โกรธ และจะยิ่งได้ผลมากขึ้น ถ้าแม่ตีแบบจำใจต้องตี ลูกจะรับรู้ถึงความเจ็บปวด ความเศร้าของแม่ ซึ่งลูกไม่อยากให้เกิด เพราะไม่ใช่แค่เขาเจ็บตัว แต่ทำให้แม่เศร้าด้วย มันจะสะเทือนเด็กมาก ก่อนจะตีให้คุยกับเด็กก่อนว่า “เราเคยพูดกันมายังไง หนูอยากพูดอะไรตอนนี้อีกไหม” แล้วก็ตีไป ตีให้เจ็บแต่ไม่ควรจะเกิดรอย

 

 

ไม่จำเป็นต้องมีไม้เรียวก็สามารถสอนลูกได้ ?

 

หมอเชื่อแบบนั้น เพราะหมอก็เลี้ยงลูกมาโดยไม่เคยตี เวลาเราส่งความรู้สึกโกรธไป เด็กจะปรับตัวได้ยากกว่าความรู้สึกผิดหวังที่เราส่งไป เด็กจะเซนซิทีฟกับความรู้สึกผิดหวังของพ่อแม่ มากกว่าความโกรธของพ่อแม่ ถ้าเราตีแบบไม่อยากตี ตีเพราะผิดหวัง จะสะเทือนทั้งเราทั้งเด็ก ตรงนี้แหละเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเด็กมากกว่า ส่งผลต่อความรู้สึก หรือการอยากปรับพฤติกรรมของเด็ก

 

 

พ่อแม่ตีจนด้านชาจะส่งผลยังไงกับเด็ก

 

ถ้าถูกตีขนาดนั้น ไม่ใช่เรื่องของการปรับพฤติกรรม แต่จะเป็นการระบายอารมณ์ เพราะเวลาคนเราตีตอนไม่อยากตี มันจะไม่เยอะจนกระทั่งมีใครด้านชา แต่การตีตอนโกรธ จะตีแบบนับครั้งไม่ถ้วน ตีจนกระทั่งไม่มีแนวปกติบนหลังเด็กได้เลย มนุษย์จะปรับตัว ถ้าเจ็บมาก ในที่สุดจะทำให้ตัวเองด้านกับสิ่งนั้น ไม่ใช่ด้านกายอย่างเดียวแต่ใจก็ด้านด้วย นั่นเป็นกลไกที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เพื่อปกป้องตัวเอง ถึงตอนนั้นไม้เรียวก็ไม่มีประโยชน์อีกแล้ว แต่สิ่งที่หายไปคือความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน พ่อแม่ไม่เห็นตัวตนหรือไม่ได้รักเขาจริงจะเกิดขึ้นมาแทนที่ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น ในกรณีที่เด็กถูกทำร้ายในครอบครัว ซึ่งถ้าพบเห็นต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือเป็นกรณี พิเศษ หรือโทร 1300 เพราะถือว่าผิดกฎหมาย

 

 

การตีส่งผลอย่างไรต่อการเติบโต

 

ถ้าสมมุติไม่ตีเลยก็ได้ ถ้าคุณมีวิธีการในการดูแลพฤติกรรม ไม่ใช่อยากทำอะไรก็ทำ คุณจะตีก็ได้ แต่ให้ตีแบบมีพิธีรีตอง ตั้งแต่การเริ่มต้นตั้งกติกา การใช้การตีที่ไม่รุนแรงมาก ตีตอนที่ไม่อยากตี ให้อยู่ในบรรยากาศที่ถึงแม้จะตี แต่ก็ยังโอบอุ้มความเป็นตัวตนและความเชื่อว่าเขาเป็นเด็กดี เด็กดีที่มีพฤติกรรมบางอย่างไม่ดี ไม่ใช่เด็กไม่ดี

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ และ นันทิญา จิตตโสภาวดี

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย

นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER