เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.28 เลี้ยงลูกให้มีความมั่นใจ

03 กันยายน 2020 159 ครั้ง

เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.28 เลี้ยงลูกให้มีความมั่นใจ

ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็มีเด็กที่ต้องแบกรับความคาดหวังของพ่อแม่ แตกต่างแค่เรื่องที่พ่อแม่คาดหวังขึ้นอยู่กับประสบการณ์และสภาพแวดล้อมแต่ละยุคสมัย แต่ปริมาณไม่ต่างกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับเด็ก ๆ มาก และอย่างหนึ่งที่พ่อแม่คาดหวังคือ จะเลี้ยงลูกอย่างไรให้ลูกเป็นเด็ก....(มีมากมาย) หนึ่งในหลาย ๆ เรื่อง คือ "ทำอย่างไรให้ลูกมีความมั่นใจ"

 

คำว่า "มั่นใจ" ถ้ามีมากเกินไปก็ฟังดูไม่ดี จึงอยากขอเปลี่ยนเป็น "เลี้ยงลูกให้เป็นคนที่มีความภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในตัวเอง"


ซึ่งวิธีการสร้างเด็กให้มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ต้องเริ่มจาก

 

1. สร้างบรรยากาศในการเติบโตด้วยความรัก มีคนที่พึ่งพาได้ ลูกรู้สึกว่าอยู่ตรงนี้เขาจะปลอดภัย อบอุ่น ถ้ามีปัญหาก็มีคนช่วยแก้ไข และคนรอบตัวก็ต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเด็กด้วย 

 

2. ถ้าเราอยากให้เด็กมีอะไร เราต้องใส่สิ่งนั้นลงไป เช่น อยากให้เด็กรักคนอื่นเป็น ก็ต้องได้รับความรักอย่างเต็มที่เช่นกัน ถ้าเราต้องการให้ลูกเชื่อมั่นในตัวเอง เราก็ต้องเชื่อมั่นในตัวลูก เด็กจะเติบโตเป็นอย่างไรเขาต้องรับสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ก่อน 

 

ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่เคยเชื่อในตัวลูกเลยตั้งแต่ลูกยังเล็ก ในที่สุดเขาจะเชื่อในสิ่งที่เคยเชื่อ คือ ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง เพราะลูกเชื่อพ่อแม่มากที่สุด 

 

แล้วลูกรู้ได้อย่างไรว่าพ่อแม่เชื่อในตัวลูก ?

 

ย้อนกลับไปที่คำตอบแรก คือ การเลี้ยงลูกต้องมีบรรยากาศของความรัก การแสดงออกว่ารักลูกทุกวัน เป็นเรื่องที่ต้องทำ เราให้ความรักลูกโดยลูกต้องไม่รู้สึกว่ามีเงื่อนไข ความรักที่พ่อแม่แสดงออกไม่ใช่เพราะลูกเป็นเด็กดี แต่ต้องเป็นเพราะ ลูกคือลูก ลูกต้องรู้สึกปลอดภัย รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ ลูกจะเกิดความผูกพันแน่นแฟ้น 


3. ให้เล่น มนุษย์มีการเรียนรู้ และช่วงที่เรียนรู้ได้ดีคือ เวลาที่รู้สึกสนุก ฉะนั้นยิ่งเล่นกับลูกมาก ลูกมีความสุข สนุก ก็จะเรียนรู้ผ่านการเล่น ทั้งเรื่องกติกา ความรัก หรือเราจะสอดแทรกเรื่องต่าง ๆ ผ่านการเล่นก็ได้ 
 

4. ให้ทำงานบ้าน ถ้าเด็กได้ทำงานบ้าน และทำได้ (ถึงแม้ว่าในช่วงแรกพ่อแม่อาจต้องเหนื่อยหน่อยแต่รับรองว่าต้องดีขึ้น) จะมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ดูแลตัวเองได้ดี รู้จักรับผิดชอบ รู้สึกดีกับตัวเอง 
 

5. เวลาที่เด็กทำพฤติกรรมไม่ดี อย่าตำหนิที่ตัวตน แต่ต้องตำหนิที่พฤติกรรมที่ไม่ดีและไม่ใช้วิธีด่า ตะโกนใส่ ให้พูดด้วยความเชื่อที่ว่า เด็กจะแก้ไขพฤติกรรมนี้ได้ 
 

6. สนับสนุนให้เด็กได้ทำ ได้คิดในสิ่งที่ชอบ และถึงแม้จะล้มเหลวก็ต้องให้เรียนรู้ เพราะการล้มก็เพื่อฝึกลูกให้ลุกขึ้นมาใหม่ได้ ซึ่งเด็กแต่ละคนมีวิธีการลุกไม่เหมือนกัน พ่อแม่ต้องใช้วิธีสังเกตลูกว่าต้องทำอย่างไร แต่ไม่ใช่การช่วยเหลือทุกอย่าง 


เมื่อลูกเติบโตขึ้น เขามีความภาคภูมิใจในตัวเอง เขาจะเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองแน่นอน

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ และ นันทิญา จิตตโสภาวดี

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย

นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER