ปลดล็อกกับหมอเวช EP.43 โรคซึมเศร้า ชีวิตดีเริ่มที่เรา

19 ธันวาคม 2020 259 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.43 โรคซึมเศร้า ชีวิตดีเริ่มที่เรา

ถอดบทเรียน “โรคซึมเศร้า” จากสองเวทีเสวนาที่คุณหมอประเวชได้รับเชิญเข้าร่วมพร้อมข้อมูลจากประสบการณ์ตรงของผู้ที่ป่วยซึมเศร้า จะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์และทำให้เข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้าได้มากขึ้นอย่างไรติดตามได้ใน ปลดล็อกกับหมอเวช EP.43 โรคซึมเศร้า ชีวิตดีเริ่มที่เรา

 

จากงานเสวนาเรื่องโรคซึมเศร้าทั้งสองเวที คุณหมอประเวชได้รับเชิญเข้าร่วมพูดคุยในฐานะผู้เชี่ยวชาญ พร้อมได้รับฟังประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วยซึมเศร้าที่ได้รับเชิญมาร่วมเวทีด้วยกัน โดยเนื้อหาและประเด็นที่พูดถึงโรคซึมเศร้าสามารถสรุปได้ ดังนี้

 

 

โรคซึมเศร้ารักษาไม่หายใช่ไหม

 

โรคซึมเศร้ารักษาได้ สามารถหายได้แบบ 100% ก็มี แบบไม่ 100% ก็มี บางรายต้องกินยาต่อเนื่อง บางรายหยุดยาได้ถาวร บางรายหยุดยาได้เพียงชั่วคราว

 

 

ซึมเศร้ากับเครียดต่างกันอย่างไร

 

ทุกคนในชีวิตต้องมีเรื่องเครียดเป็นธรรมดา เวลาที่เครียดร่างกายจะมีปฏิกิริยา กล้ามเนื้อเกร็งตัว หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ขึ้น แล้วก็มีฮอร์โมนหลั่งออกมาเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบร่างกายให้เตรียมพร้อมกับการเผชิญหน้ากับสิ่งที่เป็นความเครียดนั้น เมื่อผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ความเศร้าก็เป็นธรรมดาของชีวิต

 

แต่โรคซึมเศร้าไม่เหมือนกับความเศร้าธรรมดา และไม่เหมือนกับความเครียดทั่วไป ถ้าดูจากอาการจะเป็นอาการของความเศร้ามาก มากจนกระทั่งไม่สามารถดำเนินชีวิตให้เป็นปกติ เศร้านานเกินกว่าครึ่งเดือนเป็นต้นไปตามนิยามของวงการจิตเวช และกระทบความสามารถในการดำเนินชีวิต หมายถึง การกิน การนอน สมาธิ ความจำ ความคิด การตัดสินใจเสียไปจากเดิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่าระบบร่างกาย ระบบชีวภาพ และระบบสมองกำลังรวน นี่จึงเป็นสาเหตุที่อธิบายว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองผิดปกติ

 

ทั้งนี้ ซึมเศร้าอาการอาจไม่ได้เริ่มจากความรู้สึกเศร้า บางคนรู้จากอารมณ์ บางคนรู้จากความคิดไม่เหมือนเดิม บางคนก็ดูจากระบบร่างกายที่ไม่มีแรง ไม่อยากตื่นขึ้นมาในตอนเช้า อาการเหล่านี้เวลาที่สงสัยก็ต้องไปประเมินดูว่าเข้าเกณฑ์หรือยัง

 

 

จุดร่วมของผู้ป่วยซึมเศร้าที่เหมือนกันจากผู้เข้าร่วมเสวนา

 

1. เรื่องราวในชีวิตที่เข้ามากระทบเกี่ยวข้องกับบรรยากาศและความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

 

ครอบครัวเป็นฐานของการพัฒนาทางอารมณ์ เมื่อไรก็ตามที่ครอบครัวมีบรรยากาศทางอารมณ์ มีบรรยากาศทางความสัมพันธ์ที่ไม่เอื้อ ตรงนี้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมาก

 

อาการของคนที่ป่วยเป็นวิตกกังวล แพนิค (panic) และซึมเศร้าจำนวนหนึ่งมีรากฐานมาจากบาดแผลทางใจ หรือความคุกคามในความปลอดภัย หรือความไม่แน่นอนในบรรยากาศทางอารมณ์ ทั้งหมดนี้มีรากฐานจากบรรยากาศในบ้าน เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นในตอนเด็ก ซึ่งยังพึ่งตัวเองไม่ได้ มีความกลัว ไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง รู้สึกไม่เป็นที่รัก รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ ไม่มีความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ตรงนี้เป็นฐานที่เกิดขึ้นในคนที่จะป่วยเป็นซึมเศร้า ซึ่งมักจะเป็นซึมเศร้าที่มีอาการค่อนข้างซับซ้อนรุนแรง

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่ป่วยเป็นซึมเศร้า แล้วมีที่มาจากปัญหาครอบครัว

 

 

2. คำแนะนำที่มาจากความปรารถนาดี เจตนาดีของคนรอบตัว หลายครั้งกลายเป็นการทำร้ายความรู้สึก

 

เช่นคำว่า สู้ ๆ เรื่องแค่นี้ไม่เป็นไรหรอก หรือคำแนะนำให้ไปสวดมนต์ ฟังธรรม เข้าวัด ให้คิดบวก สิ่งเหล่านี้เป็นคำพูดด้วยเจตนาดี แต่เป็นการเพิ่มช่องว่างระหว่างคนแนะนำกับคนป่วย เพราะเป็นตัวบอกถึงความไม่เข้าใจถึงช่องว่างที่ไม่รู้ว่าประสบการณ์ภายในของผู้ป่วยเป็นอย่างไร กลับทำให้ยิ่งถอยห่างกันมากขึ้น มีกำแพงชัดเจนขึ้น และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ลง โดดเดี่ยวมากขึ้น

 

คนซึมเศร้าส่วนใหญ่ต้องการการยอมรับ แต่ไม่ชอบคำแนะนำที่มาสงสาร ต้องการให้รับฟังด้วยความเข้าใจ และรักษาระยะห่างให้เหมาะสม อย่าล้ำเส้นเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวมากเกิน

 

ดังนั้น ถ้ามีคนรู้จักป่วยเป็นซึมเศร้า การจะให้คำแนะนำขอให้ระมัดระวัง อย่าเอาคำแนะนำที่เป็นสูตรสำเร็จไปบอกด้วยเจตนาดี แต่ขอให้เน้นการเชื่อมต่อแสดงความห่วงใยอย่างเหมาะสม รับฟังเขาด้วยความเข้าใจ ไม่ต้องรีบแนะนำ

 

 

3. จุดเปลี่ยนสำคัญคือการยอมไปพบจิตแพทย์ และการกินยาช่วยรักษาได้มาก

 

การพบจิตแพทย์ช่วยได้มากในการเรียบเรียงความคิดของผู้ป่วย ช่วยในการตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ช่วยแก้ปมที่มองไม่เห็นทางออก การมีเวลาพูดคุยช่วยให้ความคิดผู้ป่วยกระจ่างขึ้น

 

ส่วนยาช่วยเรื่องการปรับสมดุลสารเคมีในสมอง ช่วยให้ดีขึ้นแต่ไม่ได้แก้ต้นเหตุของบาดแผลทางใจ ไม่ได้แก้ความเครียดในชีวิตที่เจออยู่ตอนนั้น ดังนั้น การกินยาคือส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือ เพื่อให้ระบบร่างกายมีความพร้อม แล้วจะมีแรงไปจัดการโจทย์ชีวิตได้ต่อ

 

นอกจากนี้ผู้ป่วยจะต้องดูแลตัวเอง ดังนี้

 

1. ปรับระบบชีวภาพร่างกายให้ดี ด้วยการจัดกิจวัตรประจำวันตัวเองให้เข้าที่ที่สุด ซึ่งก็คือพื้นฐานการกิน การนอน การออกกำลังกาย

 

2. ทบทวนความสัมพันธ์กับคนรอบตัว บางกรณีอาจต้องถอยออกมา เพื่อที่จะเห็นอะไรได้ชัดขึ้น ไม่ต้องถูกกระตุ้นดึงจิตให้ตกไปในร่องเดิม จะได้เดินหน้าต่อในชีวิต ให้ชีวิตมีจุดหมายมากขึ้น เมื่อรู้สึกดีขึ้นอาจค่อยถอยกลับไปดูความสัมพันธ์ แล้วค่อยเลือกว่าจะกลับไปอยู่ในความสัมพันธ์ระดับความใกล้ชิดแค่ไหน

 

3. จัดการระบบความคิดและความคาดหวัง คือ อย่าคาดหวังให้คนรอบข้างทุกคนมาเข้าใจเรา และลดความคาดหวังของตัวเองลง

 

 

4. การบอกว่าอยากตายหรือไม่อยากอยู่ เป็นการแสดงความปั่นป่วนภายในใจของผู้ป่วย และเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือ

 

เวลาที่คนคนหนึ่งบอกว่าอยากตาย หรือไม่อยากอยู่ บ่งบอกว่า เสี้ยวหนึ่งในใจเขามีความเจ็บปวดบางอย่างซึ่งไม่มีความหวังว่าจะดีขึ้น ไม่มีคำตอบว่าจะทำอย่างไร อยู่ไปก็มีแต่ความเจ็บปวดจึงไม่อยากทนอยู่กับความเจ็บปวดนั้น

 

แต่ขณะเดียวกันอีกส่วนหนึ่งในใจก็ยังอยากมีชีวิตอยู่และยังไม่อยากตาย อาจเกิดจากความกลัวตาย กลัวเจ็บ กลัวบาป ไปจนถึงการมีความห่วงใย เช่น ห่วงพ่อแม่ ห่วงงาน ห่วงหมาแมว

 

คำแนะนำ คือ เปิดใจรับฟัง เป็นผู้ฟังที่ดี และให้ความช่วยเหลือ คือ พาไปขอความช่วยเหลือจากแหล่งที่รักษาบริการอยู่

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER