ส่งต่อรักแบบแม่ EP.01 คุณแม่แพม (นวลนง จามิกรณ์)

06 ตุลาคม 2020 152 ครั้ง

ส่งต่อรักแบบแม่ EP.01 คุณแม่แพม (นวลนง จามิกรณ์)

“เราตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด ถ้าใครบอกว่า เลี้ยงลูกได้ดีจังเลย แม่ก็บอกไม่ได้ว่าวิธีของเราหรือวิธีของบ้านไหนดีกว่ากัน แต่ที่แน่ที่สุดคือ เขาคือเลือดในอกของเรา เพราะฉะนั้น วิธีที่เราเลี้ยงเขา เราก็ต้องคิดว่า เราเลือกวิธีที่ดีที่สุดที่แม่คนหนึ่งจะทำให้กับลูกได้” ติดตามเรื่องราวของ "แม่แพม นวลนง จามิกรณ์" (คุณแม่ของแพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์) แม่ผู้ทุ่มเทให้ลูกทุกวินาที ได้ใน ส่งต่อรักแบบแม่ EP.01 คุณแม่แพม (นวลนง จามิกรณ์)

 

Host: สวัสดีค่ะ วันนี่เราจะมาพูดคุยกับคุณแม่ที่น่ารัก ครอบครัวน่ารัก อบอุ่นอีกครอบครัวหนึ่งนะคะ ก็คือ คุณแม่นวลนง จามิกรณ์ คุณแม่ของน้องเพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ ค่ะ ซึ่งคุณแม่มีลูกถึง 3 คน เรามาดูกันค่ะว่าคุณแม่มีเคล็ดลับอย่างไรในการเลี้ยงลูกได้ทั้งสวย ทั้งเก่ง มีความสุข และเป็นครอบครัวที่อบอุ่นค่ะ

 

 

Host: ตอนที่คุณแม่รู้ว่ามีน้องแพน ตอนนั้นแม่รู้สึกอย่างไรบ้างคะ

 

คุณแม่แพม: แม่เป็นคนที่อยากมีลูกมากค่ะ ตั้งแต่เราเริ่มโตเป็นสาวขึ้นเราก็รู้สึกเลยว่า เราต้องมีครอบครัว มีลูก สำคัญมาก ไม่ใช่อยากจะมีแค่สามีนะ ทั้งที่ก็ไม่รู้เลยว่าการที่จะมีลูกสักคนเนี่ยต้องมีอะไรหลาย ๆ อย่างประกอบกันมาก ๆ

 

ในการที่จะต้องเลี้ยงดูลูกสักคนให้เติบโตขึ้นมาได้จะต้องมีการวางแผนอะไรหลายอย่าง แม้กระทั่งอยากจะให้ลูกเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ส่วนมากจะมีคนชอบพูดอย่างนี้มากว่า ลูกคนแรกอยากได้ผู้ชายหรือผู้หญิงหรืออะไรก็ตาม แต่ในใจเราคิดอย่างเดียวว่าเราอยากมีลูก ขอให้ลูกเกิดมาสมบูรณ์ครบทุกอย่าง นี่เป็นพรที่ขอตลอดตั้งแต่รู้ว่าเราเริ่มตั้งท้องนะคะ

 

ก็จะบอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าขอให้ลูกเราออกมาครบถ้วนทุกประการ แต่ว่าจะรูปร่างหน้าตายังไงนี่เราไม่เคยนึก ซึ่งมันก็คงขึ้นอยู่กับบุญของแต่ละคนด้วย บางทีเขามีบุญของเขามาอย่างไรก็สะสมมาถึง ณ ขณะนี้ด้วย ยิ่งคลอดลูกคนแรกด้วยแล้วเนี่ยมันตื่นเต้นไปหมดทุกอย่าง ดูเหมือนเป็นสิ่งวิเศษสำหรับเราที่ฟ้าจะประทานชีวิตใหม่มาให้เรา ตื่นเต้นไปหมดซะทุกอย่าง

 

แม้กระทั่งช่วงที่ตั้งท้อง เราก็ตั้งใจทุกอย่าง เตรียมดูแลตัวเองทุกขณะจิตก็ว่าได้นะ แค่ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ ท้องก็ยังไม่ได้โตเลยนะ แต่เตรียมตัวดีมาก ฉันต้องสวย ฉันต้องเตรียมตัวรับลูกคนนี้นะ ลูกจะได้รู้สึกว่าแม่มีความสุขมาก ๆ เลยในขณะที่ท้องลูกอยู่ ก็จะตั้งใจแต่งตัวมาก เรารู้เลยว่าเราสวยเมื่อเราท้องลูกคนนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ว่ามันก็ส่งให้ลูกเองก็มีผิวพรรณที่ดีนะคะ ก็เรียกว่าตั้งใจที่สุดกับการมีลูกทุกคน

 

ลูกคนแรกสามีอยากได้ลูกสาวมาก แต่ในใจเราคิดว่าเขาจะมาเกิดมาเถอะจะลูกสาวลูกชาย ขอให้เขาครบสมบูรณ์ทุกประการ ก็ขอพระเท่านั้นเองค่ะ เป็นลูกสาวก็โอเค พอมาคนที่สองเป็นผู้ชายก็โอเค ช่วงสมัยนั้นแม่ไม่เลือกที่จะอัลตราซาวด์เพราะเราคิดว่าอะไรที่เป็นพรมาจากฟ้า เรารับได้หมด จนลูกคนที่สามเราก็คิดว่าอะไรก็ได้ รับได้หมด เพศไหนก็ได้

 

แล้วเราก็ตั้งใจแล้วว่าเราจะเลี้ยงลูกทุกคนให้ได้ดีที่สุด สิ่งใดที่เป็นข้อบกพร่องของเราในวัยเด็ก เราจะมาแก้ไขทำให้ทุกอย่างดีขึ้นกับครอบครัวของเรา แล้วเราก็นึกเสมอว่าในช่วงเวลาของเราการเลี้ยงดูอาจจะยังเป็นแบบโบราณหน่อย คือรักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ทุกอย่างเป็นระบบที่จะต้องตี ก็เลยมาคิดว่าถ้าเราเลี้ยงลูกโดยที่ไม่ตีจะได้ไหม เอาอะไรที่เป็นยุคเก่ายุคใหม่มาปรับในการเลี้ยงดูลูกของเรา ทำตามวิธีของเรา

 

แม่จะพูดเสมอเวลาที่ใครบอกว่า เลี้ยงลูกได้ดีอย่างโน้นอย่างนี้ คือบอกไม่ได้ว่าวิธีของเราหรือวิธีของบ้านไหนดีกว่ากัน แต่ที่แน่ที่สุด เขาคือเลือดในอกของเรา เพราะฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดที่เราเลี้ยงเขา มันอยู่ที่ว่าเราเลือกวิธีที่ดีที่สุดที่แม่คนหนึ่งจะทำให้กับลูกได้นะ

 

แม่จะพูดกับลูกเสมอว่า ถ้าแม่ต้องไปจากโลกนี้ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองจะต้องเสียใจหรืออะไรทั้งสิ้นว่าตัวเองยังไม่ได้ทำโน่นไม่ได้ทำนี่ เพราะคิดว่าทุกขณะทุกนาทีที่มีชีวิตอยู่นี้ ได้ทำทุกอย่างให้ลูกอย่างเต็มที่เกินกำลังตัวเองมาตลอดนะคะ และ ณ วันนี้การหล่อมหลอมของเรามันก็ทำให้ลูกค่อย ๆ เรียนรู้ว่า ความรักของแม่ที่มีต่อลูก มันเปลี่ยนแปลงโลกได้จริง ๆ

 

เมื่อเราเปลี่ยนลูกเราได้ในทิศทางที่คิดว่าเราอยากให้เป็นปั๊บนี่นะ เดี๋ยวลูกเขาก็จะเปลี่ยนสังคมข้างนอกต่อไปได้เช่นกัน เรียกว่าไม่ใช่เราหล่อหลอมเฉพาะลูกของเราในบ้านของเรา แต่เราหล่อหลอมเขาเพื่อให้เขาไปทำประโยชน์ข้างนอก

 

เมื่อลูกเราแข็งแรง เมื่อจิตใจเขามีความแข็งแรงจากในครอบครัวแล้วเนี่ย เขาก็จะแผ่ขยายไปทำให้กับคนข้างนอกได้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่ทุกอย่างไม่ได้มาในเพียงช่วงเวลาแค่แป๊ปเดียว มันอาศัยเวลาชีวิตของเราเป็นสิบ ๆ ปีทีเดียว หรืออาจจะตลอดชีวิตของแม่ก็ได้

 

แม่คิดว่าตลอดชีวิตของเราก็ยังไม่หยุดรักลูก ไม่หยุดที่จะสอน ไม่หยุดที่จะทำอะไรให้ แต่พอตอนนี้เรารู้สึกว่าเราพูดกับเขาได้ตลอดว่า “เดี๋ยวเรา แก่ไปกว่านี้ก็อย่าเบื่อเรานะถ้าเรายังคงทำกับข้าวให้กิน หรือเรายังคงเตือนว่าอย่าใส่แบบนี้ ไม่สวยอะไรอย่างนี้นะ อย่างน้อยก็ขอให้เราได้พูด ได้รักอย่างนี้ตลอดไปเถอะ”

 

 

Host: โมเม้นต์แรกที่แม่ได้เห็นหน้าลูก รู้สึกอย่างไรบ้างคะ

 

คุณแม่แพม: ตอนนั้นมันเป็นท้องแรกด้วยก็มีทั้งความรู้สึกกลัว แต่ก็อยากเห็นหน้าลูก ไม่รู้ว่าสิ่งวิเศษเหล่านี้มันคืออะไรที่คนเขาบอกว่าคลอดเองมันคลอดยาก มันเจ็บ มันนู่นนี่สารพัดนะคะ แต่เป็นวินาทีที่วิเศษที่สุดโดยเฉพาะแม่ที่คลอดลูกเองแล้วก็ต้องเบ่งลมหายใจเอง มันเจ็บปวดแต่ในความเจ็บปวดนั้นมันแลกมากับสิ่งที่ฟ้าประทานอย่างที่บอกอะ

 

พอออกมาแล้วในนาทีนั้นเรารู้สึกว่า เมื่อลูกปลอดภัยแล้ว เราโอเคแล้ว นาทีนั้นเหมือนแม่จะสลบไป พอทำความสะอาดแล้วเราได้เห็นลูกเต็ม ๆ ตามันรู้สึกเหมือนเทพธิดาน้อย ๆ ของเรา สวยงาม ไม่ว่าลูกจะเป็นยังไง มันน่ารักน่าเกลียดน่าชังหมด เราก็ต้องว่าลูกเราที่สุดแล้ว

 

 

Host: ตอนน้องแพนเด็ก ๆ เลี้ยงยากไหมคะ ดื้อไหมคะ

 

คุณแม่แพม: น้องแพนเป็นคนที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยคนช่วยเลี้ยง ตอนนั้นแม่ก็ต้องเดินทางไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ก็หอบลูกไปด้วย แต่คนที่ช่วยเลี้ยงตอนอยู่เมืองไทยก็ไม่ได้ตามไปกับเรา ก็เลยต้องมีคนเลี้ยงที่ต่างประเทศ

 

คนช่วยเลี้ยงน้องแพนก็จะเยอะมาก มีทั้งน้อง ๆ ที่เรียนหนังสือด้วยกัน อาจารย์ที่สอนหรืออาจารย์ก็ไปช่วยหาพี่เลี้ยงทั้งที่เป็นฝรั่ง ทั้งคนผิวขาวผิวดำ น้องแพนเขาได้อยู่ด้วยหมด ซึ่งแม่ก็รู้สึกว่าน้องแพนเขาช่างเป็นเด็กที่โยกย้ายไปตามสถานการณ์ตลอดเวลา ก็ทำให้เขากับแม่มีอะไรที่แน่นแฟ้นกันมาก

 

เนื่องจากเราระหกระเหินด้วยกันในช่วงเวลาตรงนั้นเลย ส่วนลูกคนอื่น ๆ ค่อนข้างลงตัวเพราะเรากลับมาที่นี่ ก็มีพี่เลี้ยง ยิ่งคนเล็กนี่ยิ่งเข้าที่เข้าทางเลย อย่างมิกิเองเนี่ยจะไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องราวการเปลี่ยนยุคอะไรเยอะมาก ส่วนพัตเตอร์อยู่ในช่วงตรงกลางจากเก่ามาในช่วงที่สบายขึ้น

 

แต่น้องแพนนี่ก็อยู่ในช่วงพ่อแม่ยังสาวเป็นช่วงที่เราต้องตัดสินใจ ต้องสร้างรากฐานของครอบครัว ทุกอย่างอยู่ที่แพนไปซะหมด มันก็เลยทำให้แพนผูกพันกับความรู้สึกต่าง ๆ เขาจึงเป็นคนที่ค่อนข้างสู้ อดทน มีความตั้งใจมากในชีวิต

 

 

Host: การเลี้ยงลูกผู้หญิงผู้ชายต่างกันไหมคะ

 

คุณแม่แพม: แตกต่างกันมากค่ะ แม่เองคุ้นกับการดูแลเด็กผู้หญิงมากกว่าเพราะเรามีพี่น้องผู้ชาย เราผู้หญิงคนเดียว อยู่กับผู้ชายมันทะโมนไปหมด เรารู้สึกว่าต้องอยู่แบบอื้อหือ...ต่อสู้ลงไม้ลงมือกันตลอดเวลา แต่พอเรามีลูกผู้หญิง 2 คน รู้สึกว่าเราได้กระจุ๊งกระจิ๊ง กุ๊ก ๆ กิ๊ก ๆ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ลืมลูกผู้ชายไม่ได้ เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับเขา

 

จนวันหนึ่งแม่ยังไปบ่นกับเพื่อนตอนช่วงที่ลูกอยู่มัธยมบอกว่า เราไม่รู้ว่าลูกเราจะเป็นผู้ชายแท้ ๆ หรือเปล่า แต่เราก็สรุปกับเพื่อนว่าไม่ว่าลูกเราจะเป็นอะไร แต่เราก็ให้เขาเกิดมาด้วยความรักแล้ว แม้ว่าลูกจะเป็นอะไรก็ตาม ก็จะดูแลเขาให้ดีที่สุด

 

แต่ก็ต้องเปลี่ยนให้ลูกชายอยู่กับเราน้อยลง เพราะตอนนั้นเราให้ลูกนอนด้วยกันหมดเลย ก็เปลี่ยนให้ลูกชายอยู่ใกล้พ่อมากขึ้น ไปทำกิจกรรมแบบผู้ชายมากขึ้น ถ้าอยู่กับเราก็อยู่แต่กับเรื่องจุ๊กจิ๊ก ๆ ตลอดเวลา

 

 

Host: ที่เลี้ยงลูกมาเคยมีอุปสรรคหรืออะไรที่หนักหนาสาหัส เจ็บปวดหัวใจในความเป็นแม่บ้างไหมคะ

 

คุณแม่แพม: ก็คงเป็นเวลาที่ลูกไม่สบาย ทุกครั้งเรารู้สึกว่าใจจะขาด พอถึงหลานนี่เราพูดได้เต็มอกเลยว่า ใจจะขาด เมื่อเสียงลูกร้องทุกครั้งมันเหมือนกรีดลงใจเรา แต่เราต้องเข้มแข็ง บอกได้เลยว่า ตัวแม่เองนี่นะไม่อยากจะมีน้ำตาให้ลูกได้เห็นเลย เพราะว่ามันเหมือนกับว่า ถ้าเราท้อ ลูกก็ท้อ ถ้าเราเจ็บ ลูกก็เจ็บ ยิ่งมากขึ้นด้วยซ้ำ

 

เพราะฉะนั้นจะไม่มีอะไรที่ยากลำบากหรือเกินกว่าเกินกำลังที่แม่จะทำให้ลูกไม่ได้นะ เพราะแม่กลัวว่าลูกจะเจ็บไง แต่ถ้าแม่เจ็บไม่เป็นไร แต่ถ้าลูกจะต้องเจ็บไม่ว่าจะเรื่องอะไร แค่ลูกทะเลาะกับเพื่อน เรายังรู้สึกสงสารลูกมากเลย

 

แต่เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เขา ไม่ถูกบั่นทอนไปกับเรื่องอะไรง่าย ๆ พอไม่บั่นทอนอะไรง่าย ๆ ปั๊บ เราก็หายห่วงแล้ว ถ้าใจเขาสามารถนิ่งได้ เราก็ไม่เจ็บปวดแล้ว เพราะเราคิดว่า ต่อให้มีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตเขา เขาจะรับมือได้เอง จะไม่เสียใจอะไรเลย เพราะเราได้สร้างเขา ได้ปลูกฝังเขามาแล้ว

 

 

Host: ต่อหน้าลูกแม่อาจจะไม่อ่อนแอ แต่มีช่วงเวลาไหนไหมคะที่แม่ก็ต้องแอบร้องไห้คนเดียว

 

คุณแม่แพม: มี ก็อย่างว่านะคะชีวิตครอบครัวประกอบด้วยอะไรเยอะแยะมาก ยิ่งสังคมไทยไม่ใช่สังคมที่ได้อยู่ลำพัง เราต้องขึ้นอยู่กับคนมากมายรอบตัวเรา ญาติพี่น้อง พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เยอะแยะไปหมด ก็ต้องมีอะไรมากระทบให้เราหวั่นไหว หรือไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังตั้งใจ ไม่ว่าจะด้วยเศรษฐกิจ สังคมรอบข้างหรืออะไรก็ตาม มันก็ทำให้เราต้องแอบร้องไห้คนเดียว

 

จำได้ ยังเล่าให้ลูกฟังเลยว่า ครั้งที่แม่ร้องไห้มาก ๆ ครั้งหนึ่งแล้ว แม่ก็ไม่อยากไปเสียน้ำตาเลย อาจจะเพราะว่าเราไปชอบใครคนหนึ่งเข้า แล้วไม่เป็นแบบที่เราคาดหวัง แล้วแม่ก็เป็นครั้งนั้นครั้งเดียว เพราะพอวันรุ่งขึ้นก็คิดได้ว่า ทำไมต้องมาเสียน้ำตากับเรื่องแค่นี้ แล้วแม่ก็ไม่เคยร้องไห้กับเรื่องนั้นอีกเลย

 

อย่างอื่นก็มีเสียใจเรื่องที่ไม่เข้าใจกันกับพ่อแม่ของเราเอง ตอนนั้นเสียใจกับคุณตาคุณยายมาก ๆ แต่ก็ไม่เล่าให้ลูกฟัง เรื่องบางเรื่องพอมันถ่ายทอดไปถึงลูกเราเนี่ยนะ มันทำให้เขาคิดต่างจากเราไปแล้ว เช่น อะไรที่เราไม่อยากจะให้เป็นจากพ่อแม่เรา ทั้ง ๆ ที่เราก็โตแล้ว แต่เราก็จะไปเล่ากับลูกแบบนี้ไม่ได้ จะไปบอกว่าแม่เสียใจจังที่คนนี้ไม่ให้อย่างนี้ คนนี้ไม่ทำอย่างนี้ ไม่ได้ คือทุกอย่างจะอยู่แค่เรา

 

จนกระทั่งเรารู้สึกแล้วว่า เขามีความแข็งแรงทางใจพอ เมื่อนั้นแหละเราก็จะค่อย ๆ ปรับทุกข์กันได้ในบางเรื่อง มันจะมีเวลาให้เราเห็นเลยว่า เวลาไหน ตอนไหน ที่เราจะเล่าเรื่องกันได้แล้ว เขาฟังได้โดยเข้าใจ แล้วไม่ใช่ว่าจะเล่าทุกเรื่องได้กับลูกทุกคนนะคะ ต้องดูว่าคนนี้เขารับได้เรื่องอะไร คนนี้อาจจะเซ้นซิทีฟมาก แล้วเราเล่าเรื่องนี้เขารับไม่ได้ เราก็จะไม่เล่าเรื่องนี้

 

 

Host: แม่เคยมีไหมคะที่แบบเราไม่กินก็ได้แต่ต้องให้ลูกกินก่อน

 

คุณแม่แพม: ใช่ แม่เนี่ยเป็นคนที่รับส่งลูกเองตลอดทุกคน เพราะฉะนั้นชีวิตของการอยู่ในรถของแม่ก็เหมือนอยู่บ้านเลย ก็ทำทุกอย่างเหมือนกันหมดตั้งแต่เอาลูกขึ้นรถ แม้กระทั่งแปรงฟัน เช็ดตัว แขวนชุดมาในรถ ป้อนข้าวยัดใส่ปาก พอถึงหน้าโรงเรียนอนุบาล รถจอดก็ลงเลย

 

แม่ทำทุกอย่างแบบเต็มที่จริง ๆ กับลูกทุกคน เรียกว่าการบริหารจัดการลูกนะ แทนที่เราจะปล่อยให้คุณพ่อเข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้ เหมือนว่าจะเป็นแบบแม่ที่กลัวไม่ได้ดั่งใจเรา ถ้าพ่อเข้ามาก็จะเข้ามา ก็จะเป็นไปแนวนึง แต่พอเป็นเราขึ้นมาก็จะค่อนข้างละเอียดมากขึ้น

 

วินัยนี่ไม่เลยนะกับแม่ในการเลี้ยงลูกเนี่ย ระเบียบวินัยบอกได้เลยว่าน้อยมาก คือเป็นแม่ที่ไม่ได้จัดการระเบียบวินัยกับลูกเลย แต่แม่เน้นเรื่องการเป็นคนดี คือไม่ได้บอกว่าลูกต้องเป๊ะ เวลานี้ต้องนอนแล้วนะ เวลานี้ต้องอ่านหนังสือ ต้องเรียนพิเศษอะไรอย่างนี้ ไม่ ๆ เลยค่ะ แต่ขอเพียงว่าต้องคิดดีแล้วทำแต่เรื่องดี ๆ นะ

 

แต่มันก็ไม่ใช่หมายความว่าทุกอย่างเป็นไปตามที่เราต้องการ 100% นะ เพราะว่าลูกอยู่กับเรากี่ชั่วโมง แล้วลูกไปอยู่สังคมข้างนอกกี่ชั่วโมงในแต่ละวัน เพราะฉะนั้น ลูกไปรับอะไรมาบ้าง พอมานั่งนึกดูนะ บางทีสงสารเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้มีเวลาที่จะมาอยู่กับเขา ไม่ได้มีเวลาตบ ๆ เขา คือดูแลพูดคุยสั่งสอน

 

เพราะลูกอยู่ข้างนอก เขาไปคุยกับใคร ไปรับเรื่องราวอะไรมาบ้าง แค่สำหรับเราที่รับส่งลูกเอง เราได้อะไรเยอะมากจากตรงนี้ เราได้รู้ว่าวันนี้ลูกคนนี้คิดเรื่องอะไร บางอย่างแบบไม่ได้แล้ว อันนี้ต้องรีบสอนเดี๋ยวสายเกินไป ก็ต้องรีบหาวิธีเล่าเรื่อง คุยกับเขา บางทีเขาอาจจะทุกข์มาจากการที่ออกไปข้างนอก เราก็จะต้องเปลี่ยนเรื่องนี้ให้เขา

 

แต่เขาไม่รู้เลยว่าในวันนั้นของแม่เนี่ยได้รับความทุกข์มามากแค่ไหนจากการที่ไม่ได้เจอเขา คือจากการที่ส่งลูกเสร็จเรียบร้อย แม่ต้องไปทำงาน ต้องไปเจอเรื่องราวต่าง ๆ อีกมากมายในเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งช่วงนั้นแม่ก็อาจมีความทุกข์มา แต่ทันทีที่แม่กลับมาเจอลูกปั๊บ เหมือนมันต้องสวมหมวกให้รู้เลยว่า ณ ตอนนี้เรากำลังทำอะไร

 

แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้เลยคือต้องซื้อข้าวให้ลูก เพราะว่าตอนเย็นเรารับลูก ลูกต้องอยู่กับเราเหมือนตอนเช้า ก็ต้องหาอาหารเหมือนลูกนกกินโน่นกินนี่กัน ก็เป็นชีวิตของแม่เลยที่ทำอย่างนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ลูกเข้าโรงเรียนจนกระทั่งเรียนจบกัน

 

ที่แม่ทำอย่างนี้มาโดยตลอด ทำให้เราได้รู้เรื่องราวอะไรหลายอย่าง ชีวิตแต่ละช่วงของลูก เพราะลูกแต่ละคนก็อายุห่างกัน สิ่งเหล่านี้มันสร้างความสุขให้แม่นะ แม่ถือว่าแม่เปลี่ยนโลกเพราะเขาด้วยเหมือนกันนะ เพราะลูกแต่ละคนช่างต่างกันเหลือเกิน คนนี้ได้อยู่เหมือนเป็นเพื่อนกันเลย

 

อย่าง “แพน” เนี่ย เพื่อนของเขาให้เราอยู่ในกลุ่มเพื่อนด้วยเนี่ย มันเลิศจังเลยอะ ทำไมได้ด้วย แต่แม่ก็นึกว่าตอนนั้นเราวัยแค่ 40 กว่าเอง แล้วพอมาตอนนี้แม่เห็นผู้หญิงในอายุ 40 กว่า เรานึกไปถึงตอนนั้น เออจริง ๆ ก็ยังไม่ได้แก่เลยนะ เป็นวัยที่เฟรชมาก ตอนที่แพนเข้าวงการใหม่ ๆ เนี่ย แม่อายุประมาณ 45 นะ แม่รู้สึกว่าเรามีพลังเยอะ เราทำอะไรได้ทุกอย่างเลย

 

เพราะฉะนั้น พอลูกคนที่สองก็ยังโอเค ก็ยังยอมรับให้แม่อยู่ใกล้ ๆ ไปไหนก็ยังได้ยินคำพูดว่า ดีใจที่แม่แต่งตัวสวย คือเราตั้งใจแต่งตัวไปรับไปส่งลูกเสมอ แต่ลูกมาบอกว่าเพื่อนมาทัก “ทำไมแม่ใส่เสื้อสวยจังเลย” เรารู้สึกว่าเด็กเขาดูอย่างนี้นะ มันก็เลยทำให้รู้สึกว่า พอเราตั้งใจ มันก็ทำให้ลูกมีความสุขนะ

 

พอลูกคนที่สาม เอาละโลกเปลี่ยน เราไม่ได้เข้าไปถึงตรงนั้นเลย เพราะเขาสามารถจัดการทุกอย่างของเขาเองได้หมดแล้ว พอยุคคอมพิวเตอร์มันมาแรงขึ้น เด็ก ๆ ในรุ่นนั้นก็ไม่ใช่เด็กในรุ่นเดียวแบบแพนแล้วนะ เด็กในรุ่นแพนยังคงเป็นแบบที่ครอบครัวสำคัญ

 

แต่พอยุคลูกคนที่สามมันเปลี่ยนไปมากเหลือเกิน ในขณะที่แม่ก็อายุเยอะขึ้น เราจะทำไงให้ลูกไม่รู้สึกว่าเราแก่จนตามเขาไม่ทัน ก็ต้องปรับตัว เนี่ยมันถึงมีอะไรหลายอย่างที่ทำให้เราไม่หยุดนิ่ง ต้องเรียนรู้ เวลามันเปลี่ยนจริง ๆ

 

แต่ก่อนแม่ในวัย 40 กว่า ใครมาพูดอะไรเนี่ยเราไม่ค่อยรู้สึก เขาบอกว่าเดี๋ยว 50 กว่า ทุกอย่างก็จะมาทวงถามหมดแล้ว เราไม่รู้สึกเลย แต่เราก็ขอบคุณลูกในทุก ๆ อย่าง สิ่งที่เราหล่อหลอมมา มันทำให้ลูกค่อย ๆ เข้าใจกับการเปลี่ยนแปลง ถึงเวลาสลับกันแล้ว จากที่เราประคบประหงมลูก ถึงตอนนี้ลูกเขาค่อย ๆ กลับมาทำอย่างนั้นกับเราแล้ว

 

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  คุณแม่แพม นวลนง จามิกรณ์ / สุรางคณา สุนทรพนาเวศ

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

 

OTHER