เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.41 รู้จัก รู้ใจ ลูกวัย 12-14 ปี

16 ธันวาคม 2020 371 ครั้ง

เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.41 รู้จัก รู้ใจ ลูกวัย 12-14 ปี

ลูกวัย 12-14 ปี เป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก พ่อแม่ต้องรับมือ ทำความเข้าใจ และดูแลลูกในช่วงวัยนี้อย่างไรบ้าง ติดตามข้อมูลทั้งหมดนี้ได้ในเรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.41 รู้จัก รู้ใจ ลูกวัย 12-14 ปี

 

“เป็นวัยที่ไม่แคร์คนอื่น เพราะกำลังวุ่นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นลักษณะที่ทำให้ตัวเองมีความมั่นคงมากขึ้น เพราะเขาเปลี่ยนแปลงเยอะมาก จนตัวเองก็จัดการตัวเองไม่ได้ มีการพุ่งปรี๊ดของอารมณ์ หรือจมดิ่งซึมเศร้า จึงยากที่จะแบ่งมาเพื่อดูแลคนอื่น”

 

 

ช่วงวัย 12-14 ปี เรียกว่าเป็นวัยที่พ่อแม่รู้สึกว่าลูกน่ารักหายไป ไม่เข้าใจลูกเลย ขณะเดียวกันลูกก็รู้สึกไม่เข้าใจผู้ใหญ่เหมือนกัน รู้สึกถึงความที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเขาเลย

 

 

วัย 12-14 ปี เป็นวัยที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจลูกอย่างไรบ้าง

 

ถ้าความสัมพันธ์กับลูกดีก่อนเข้าวัยนี้ จึงจะเรียกว่า เป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ในวัยนี้ เพราะเด็กฟังเป็นมาก่อน ลูกสามารถแสดงความคิดเห็นมาได้แล้ว รู้ว่าพ่อแม่สามารถรับฟังปัญหาเขาได้ แต่ถ้าไม่เคยปูพื้นฐานเลย ใช้วิธีการสั่งสอนทางเดียวมาตลอด จะเห็นว่า ลูกที่น่ารักหายไป เพราะเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ๆ ทุกด้าน

 

-  สิ่งสำคัญคือ ฮอร์โมน ที่ทำให้เข้าวัยหนุ่มสาว ผู้ชายก็เสียงแตก เริ่มมีหนวด ผู้หญิงเริ่มมีเต้านม มีประจำเดือน มีความกังวลเรื่อง เสื้อผ้า หน้า ผม มากกว่าตอนเป็นเด็ก

 

-  วัยนี้เพื่อนมีความสำคัญขึ้นไปอีก สำคัญกว่าพ่อแม่ ในแง่อิทธิพลเรื่องการตัดสินใจ ทำไมอยู่ดี ๆ ฟังเพื่อนมากกว่า 

 

บางทีพ่อแม่อาจใช้คำพูดกับลูกทำนองว่า “รักเพื่อนมากกว่าแม่” แล้วก็เอาความรักไปเป็นตัวต่อรอง เช่น “รักแม่ก็อย่าทำแบบนั้น” ซึ่งเอาความรักไปเป็นตัวต่อรองไม่ได้เลย และลูกก็รู้ว่า แม่ยังไงก็รักลูก รู้ว่าไม่เป็นจริง ถ้าเอาความรักไปเป็นตัวต่อรอง เด็กจะเข้าใจว่า ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเขา 

 

-  ถ้าพ่อแม่ต้องการให้ลูกทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่างเพราะหวังดี ก็ต้องมาดูว่าวัยนี้ เป็นวัยที่สมองส่วนกลาง คือ สมองส่วนอารมณ์ ความรู้สึกเติบโตเร็วมาก แต่สมองส่วนตรรกะ เหตุผล การชั่งใจ หรือสมองส่วนหน้าเจริญเติบโตช้ากว่า 

 

วิธีการทำให้สมองส่วนหน้าโตเร็ว คือ ต้องฝึกให้ลูกช่วยคิด ไม่ใช่สั่งลูก ผู้ใหญ่จะคุ้นกับการสั่งสอนมากกว่า เชื่อว่าถ้าลูกฟังไปเรื่อย ๆ แล้วจะเป็นตามนั้น ซึ่งไม่จริง 

 

จริงๆ แล้วต้องฟังแล้วให้ลูกร่วมกันตัดสินใจ ถ้าอยากให้สมองส่วนหน้าลูกเจริญเติบโตเร็ว สมองแต่ละส่วนไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ แต่ขึ้นอยู่กับการใช้งาน ถ้าอยากให้โตเร็ว ก็ต้องใช้งาน ต้องปลูกฝังมาตลอด

 

-  วัยนี้เป็นวัยที่ไม่อยากฟังคำสอน และเป็นวัยที่เขาต้องการพิสูจน์ว่า “ฉันเติบโตขึ้น ฉันดูแลตัวเองได้” สมองมีความต้องการที่จะเป็นแบบนั้น ดังนั้น ลูกจึงอยากที่จะเป็นคนตัดสินใจ อยากที่จะไปเป็นแบบนั้น อยากทดลอง ได้ทำด้วยตัวเอง ไม่ใช่การมาบอกมาสอน 

 

ถ้าอยากให้วัยรุ่นเป็นผู้ใหญ่ สมองโตเร็วขึ้น ต้องลดการสอนลง แต่ให้เขาได้มีโอกาสได้ร่วมตัดสินใจกับเรา ต้องเป็นการสื่อสาร 2 ทาง ซึ่งการสั่งไม่ได้ผล และกว่าพ่อแม่จะรู้ เมื่อลูกไปทำพฤติกรรมนั้น ๆ แล้ว พอผิดหวังแล้วก็มาโทษเด็ก

 

 

การฟังลูกวัยรุ่น ฟังอย่างไร

 

บางครอบครัวบอกลูกว่า "มีอะไรก็มาบอก " พอลูกมาบอก พ่อแม่ก็จะสอนอีก ดังนั้น เหมือนพ่อแม่ยังไม่ได้ฟังลูกจริง ๆ เพราะแบบนี้เหมือนไม่จริง เราต้องถามตัวเองว่า เราทนฟังได้ไหมถ้าลูกมาบอกเรื่องที่เรารับไม่ได้ แล้วเราจะไม่สอน แต่ให้หาทางออกร่วมกัน 

 

ถ้าทำไม่ได้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่ลูกจะไม่โกหกเรา ฉะนั้นเราเป็นตัวกำหนดว่าจะให้ลูกโกหกหรือไม่ 

 

ถ้าลูกรู้ว่า เรารับฟังเรื่องน้ันไม่ได้ ลูกก็จะโกหก เพราะเขาไม่อยากรับรู้ว่าตัวเขาแย่ เพราะสมองส่วนกลางเขาต้องการความสุข ต้องการความเชื่อมั่น ไม่ใช่ฉันแย่จัง ฉันไม่ได้เรื่อง แล้วพอโตไป ลูกก็จะไม่มั่นคงด้วย ฉะนั้น ถ้าเราอยากใกล้ชิดวัยรุ่น เราต้องยอมรับเขาได้ทุกเรื่อง

 

ยกตัวอย่าง ลูกเดินมาบอกว่า ไปลองสูบบุหรี่มา สิ่งที่แม่ควรทำ คือ รับฟัง ใช้คำถามที่ว่า “แล้วเป็นไง?” “รู้สึกอย่างไร?” และ สิ่งที่ดีที่สุด คือ การบอกลูกว่า “แม่ดีใจที่ลูกมาบอกแม่” 

 

ถ้าเราไปสอนทันทีว่าไม่ดี ต่อไปเขาก็จะไม่อยากมาเล่าอะไรให้ฟัง เพราะวัยนี้ เด็กจะถูกกดดันจากเพื่อน บางทีทำไปเพราะต้องการได้รับการยอมรับจากเพื่อน แต่เขาก็อยากมีใครสักคนที่เขาสามารถบอกความรู้สึกตรง ๆ ได้ พ่อแม่ควรจะเป็นคนนั้น และใช้วิธีถามให้ลูกเป็นคนคิดแล้วตอบเอง เช่น “สูบแล้วเป็นอย่างไร?” “ลูกคิดว่าจะสูบอีกไหม?” ใช้วิธีคุยกับเขาให้ลึกไปกว่านั้น แล้วจะรู้ว่าลูกเราดูแลตัวเองได้หรือไม่ได้ เราไม่ได้คุยเพื่อจับผิดลูก แต่คุยเพื่อให้ลูกมองให้ลึก แล้วหาทางพูดคุยเรื่องกติกา

 

และสิ่งสำคัญคือ รู้จักเพื่อนของลูกให้เยอะ ต้องรู้ว่าเด็กมองหาเพื่อนที่คล้ายตัวเองอยู่

 

 

วัยรุ่น วัยที่ค้นพบตัวเอง

 

มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่มีช่วงวัยรุ่นนานที่สุด เพราะการที่สมองส่วนกลางกำลังเติบโต แล้วสมองส่วนหน้า (ส่วนคิด) เติบโตตามไม่ทัน ทำให้มนุษย์มี passion และมีความพยายาม และความสามารถหมกมุ่นกับสิ่งต่าง ๆ ถึงแม้จะเป็นเรื่องยาก ๆ 

 

ก็แปลว่า ทักษะอะไรที่ว่ายาก แล้วเด็กชอบจะทำ ช่วงเวลานี้เขาจะทำสำเร็จ เพราะช่วงนี้ถ้ารัก ต้องการ และพยายามจะทำอะไร ในวัยนี้จะรับและสื่อไปในสมองอย่างรวดเร็ว มากกว่าวัยอื่น ๆ และถ้าเรารู้ความจริงในข้อนี้แล้ว จะทำให้เราสามารถชี้แนวทางให้ลูกใช้ชีวิตวัยรุ่นได้อย่างคุ้มค่ามาก

 

ฉะนั้น ถ้าวัยนี้ถูกเคี่ยวเข็ญให้เรียนอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้ทำอะไรในสิ่งที่เขารัก เหมือนเราทำร้ายในช่วงที่สำคัญที่สุดของเขาไป เสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพสูงสุดไป

 

 

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำความเข้าใจลูกวัยรุ่น

 

-  ถ้าลูกหมกมุ่นกับเรื่องที่พ่อแม่รู้สึกไม่ดี เช่น เกม พ่อแม่ต้องดูว่า ลูกมีลักษณะการทำอย่างอื่นได้อย่างสมดุลหรือไม่ เช่น เล่นไม่นอน ไม่มีกิจกรรม ไม่ไปโรงเรียน แบบนี้คือ มากไป แต่ถ้าลูกยังสมดุลอยู่ เรื่องเกมก็อาจจะยืดหยุ่นได้

 

-  วัยนี้เป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโตเพื่อพึ่งพาตัวเองจึงมีระยะห่างจากครอบครัว ถ้าพ่อแม่ไปควบคุมมาก ลูกจะต้องการระยะห่างมากขึ้น ก็จะกลายเป็นปัญหามากขึ้น

 

-  วัยนี้กำลังรับรู้ความต้องการของตัวเอง เป็นวัยที่ไม่แคร์คนอื่น เพราะกำลังวุ่นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นลักษณะที่ทำให้ตัวเองมีความมั่นคงมากขึ้น เพราะเขาเปลี่ยนแปลงเยอะมากจนตัวเองก็จัดการตัวเองไม่ได้ มีการพุ่งปรี๊ดของอารมณ์ หรือจมดิ่งซึมเศร้า วัยรุ่นก็จะสับสน ทั้งเหนื่อย ทั้งเครียด เพราะเขาเรียนรู้ที่จะดูแลมันอยู่ จึงยากที่จะแบ่งมาเพื่อดูแลคนอื่น ฉะนั้นถ้าครอบครัวรู้สึกไม่เข้าใจหรือผิดหวังกับลูก ก็จะยิ่งผลักให้ลูกมีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น

 

-  ถึงแม้เราจะเป็นพ่อแม่ที่ดี มีความมั่นคง ลูกก็อาจจะอารมณ์ขึ้นใส่เราได้อยู่ดี เพราะสมองส่วนอารมณ์เขาทำงาน เราต้องเตรียมความพร้อมกับตัวเอง ถ้าลูกอารมณ์ไม่ดีใส่มา เราก็ไม่ต้องตกใจ ทำใจให้สงบเข้าไว้ อย่าพยายามให้เขาสงบเดี๋ยวนั้น หรือยอมรับเดี๋ยวนั้น ช่วงที่กำลังพีคก็อย่าเพิ่งคุย อาจจะแยกย้ายกันไปก่อน อารมณ์ดีก่อนค่อยคุยกันใหม่ การที่พ่อแม่มีอารมณ์กลับไป ไม่เกิดประโยชน์และทำให้สถานการณ์แย่ลง

 

-  ลูกมีกิจกรรมของตัวเองมากขึ้น ไปกับเพื่อนมากขึ้น ถ้าพ่อแม่เปิดช่องทางการสื่อสารได้ดี ลูกก็จะคุยกับเรามากขึ้น ส่วนที่พ่อแม่ต้องรู้ไว้เสมอ คือ ลูกอยู่ที่ไหน ทำกิจกรรมอะไร

ดูแลเรื่องความปลอดภัยต่าง ๆ

 

-  เด็กที่ชอบนั่งนิ่ง ๆ เล่นเกม ควรมีกิจกรรมที่ออกกำลังกายด้วย

 

-  หาเวลาคุณภาพของครอบครัว เช่น การทานอาหารร่วมกัน

 

-  ไม่ควรมีทีวีในห้องนอนและควรนอนให้พอ

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ และ นันทิญา จิตตโสภาวดี

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย

นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER